นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2562 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท รวม 4 โครงการ ได้แก่ 1.การฟื้นฟูคลองเปรมประชากร 2.การฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก 3.การฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 4.โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ก่อนจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับการปรับปรุงและฟื้นฟูคลองเปรมประชากรทั้งระบบตลอดสาย จะครอบคลุมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยระยะเร่งด่วนจะดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพคลองเปรมประชากรเพื่อการระบายและรักษาคุณภาพน้ำ กรอบวงเงินรวม 4,466 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 62 - 65
ด้านแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก เน้นดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพบึงตื้นเขิน เพิ่มปริมาณความจุน้ำในบึง ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งหน้าฝนและแล้ง
ส่วนแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ มีแผนหลัก เน้นขุดลอกบึงบอระเพ็ดและขุดคลองดักตะกอน ขุดลอกคลองวังนา และตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้กลับมาใช้ประโยชน์ในการเก็บกักน้ำ และรองรับน้ำในช่วงน้ำหลาก
สำหรับโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ขุดคลองผันน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) ทั้งระบบ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเติม – 2564 วงเงิน 1,717 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถบรรเทาอุทกภัยครอบคลุทมพื้นที่ประมาณ 37,500 ไร่ 16,802 ครัวเรือน
พร้อมกันนี้ สทนช. ได้รายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน การวางแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งมาตรการการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 ต่อที่ประชุม กนช. รับทราบถึงข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนช่วงฤดูฝน ปี 62 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสนก. ได้คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญอ่อน จะยังคงมีผลต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 62 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ
"ที่ประชุมคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกต่ำกว่าปกติในทุกภาค และจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม"
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยเดือนมีนาคม 62 มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 5% ภาคเหนือจะมีปริมาณฝนประมาณ 10-35 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าปกติ 20% สำหรับภาคอื่น ๆ ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 10% ส่วนเดือนเมษายน 62 ปริมาณฝนทุกภาคส่วนใหญ่จะต่ำกว่าค่าปกติ 10% สำหรับเดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนตกทั้งประเทศจะมีค่าใกล้เคียงปกติ และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม
ดังนั้น จึงเห็นชอบมาตรการบรรเทาและลดผลกระทบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเร่งด่วนใน 4 มาตรการประกอบด้วย การแจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 21 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เน้นสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืช ผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคพื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลยกาญจนบุรี และราชบุรี และทบทวนแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนพร้อมทั้งมอบหมายให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพหลัก
เลขาฯ สนทช. กล่าวว่า การปรับแผนการจัดสรรน้ำโดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะต้องพิจารณาอ่างเก็บน้ำที่มีความจุของน้ำใช้การจากน้อยไปหามาก เพื่อสร้างความสมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการจัดสรรตามลำดับความสำคัญรวมถึงมีน้ำสำรองในต้นฤดูฝนด้วย