นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23-28 มี.ค.ที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 11 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ กระบี่ พิจิตร ศรีสะเกษ สระแก้ว เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู พิษณุโลก เชียงใหม่ น่าน และหนองคาย ครอบคลุมพื้นที่รวม 22 อำเภอ 35 ตำบล 85 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 431 หลัง
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
ขณะเดียวกัน ปภ.ได้ประสาน 5 จังหวัดทางภาคเหนือเร่งช่วยเหลือประชาชน หลังกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า เมื่อเวลา 05.00 น.มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 ได้แก่ เชียงราย (ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย) เชียงใหม่ (ตำบลช้างเผือก ตำบลศรีภูมิ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม) ลำพูน (ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน) แม่ฮ่องสอน (ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) และน่าน (ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) โดยมีค่า PM2.5 ระหว่าง 51-189 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 ระหว่าง 72-218 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 103-299 ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ปภ.ได้บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันเชิงรุก ทั้งการกำหนดกติกาชุมชน เพื่อจัดระเบียบพื้นที่และช่วงเวลาห้ามเผาให้เหมาะสมตามสภาพความเสี่ยงภัย อีกทั้งสนธิกำลังเจ้าหน้าที่และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรด้านสาธารณภัยให้พร้อมดับไฟป่า และบรรเทาลดผลกระทบจากหมอกควัน ตลอดจนเข้มงวดการเผาในพื้นที่เสี่ยงด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผาในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง รวมถึงจัดกำลังลาดตระเวนและเฝ้าระวังการลักลอบเผาป่าหรือวัสดุทางการเกษตร
สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน