พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังประชุมร่วมกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีนำสายสื่อลงใต้ดินในพื้นที่ กทม.ว่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายเดือนพ.ค. 62 หลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 2 ปี
โดยการวางท่อร้อยสายนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะใช้พื้นที่ทางเท้า ความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร ลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ปกติทางเท้าในกรุงเทพฯ กว้างประมาณ 1.5 - 2 เมตร ขณะที่การนำสายไฟฟ้าลงดินจะต้องขุดบนผิวจราจรที่ความลึกประมาณ 4 เมตร ทั้งนี้ กทม.จะดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายฯ บนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัด และเส้นทางในซอยที่มีการพาดสายทั่วกรุงเทพฯ รวม 2,450 กิโลเมตรตามระยะทางเท้า แบ่งการดำเนินการเป็น 4 พื้นที่ โดยจะเริ่มพร้อมกันทั้ง 4 พื้นที่ และตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 ในทุกเส้นทางจะต้องขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงดินอย่างน้อย เฟสละ 150 กิโลเมตร
ด้านนายฐากร กล่าวว่า ระยะทางที่จะเอาสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดินบนถนนสายหลักและถนนสายรองทั่วกรุงเทพฯ ระยะทาง 1,260 กิโลเมตร รวมระยะทางที่จะดำเนินการทั้งสองฝั่งถนน 2,520 กิโลเมตร แบ่งการทำงานเป็น 4 ระยะ โดยทำพร้อมกันทั้ง 4 โซน คือ กรุงเทพฯ ตอนเหนือ กรุงเทพฯ ตะวันออก ธนบุรีตอนเหนือ ธนบุรีตอนใต้ โดยปีแรกตั้งเป้าจะทำให้ได้โซนละ 150 กิโลเมตร ทั้งนี้เมื่อการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเสร็จแล้วจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามเป็นระยะ โดยแต่ละระยะน่าจะใช้เวลาช่วงละ 4-5 เดือน อัตราค่าบริการจะคำนวณด้วยอัตราที่เป็นธรรม โดย กสทช.จะหารือกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม
โดยกสทช.จะพิจารณาแผนการดำเนินงาน และเตรียมประสานกับผู้ประกอบการฯ เป็นระยะ เพื่อให้การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในการดำเนินการทั้ง 4 เฟส เมื่อมีความคืบหน้าของการวางท่อร้อยสายในแต่ละเฟสในระยะ 100 กิโลเมตรแรก ก็จะเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการเจ้าของสายสื่อสารต่างๆ ทยอยนำสายฯเข้าในระบบทันที รวมทั้งหามาตรการกระตุ้น เช่น การลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารทั้งหมดเข้ามาในระบบให้เร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กสทช.จะพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมจาก กทม. ในการให้บริการท่อร้อยสายสื่อสาร โดย กทม. ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ ไม่ใช่การคิดค่าบริการแบบมุ่งหวังผลกำไรจากผู้ประกอบการ
นายฐากร กล่าวถึงการคิดอัตราค่าบริการที่จะคิดกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะคำนวณโดยใช้อัตราอ้างอิงที่บมจ. ทีโอที ให้บริการอยู่ที่กิโลเมตรละ 9,600 บาท/กม./เดือน โดยกทม.จะคำนวณอัตราที่เหมาะสมโดยหารือร่วมกับกสทช.อีกครั้ง
ส่วนกรณีที่บริษัท กรุงเทพธนาคม ผู้ดำเนินการได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมดำเนินการมานั้น กสทช.ได้ขอให้ กทม.ทำหนังสือแจ้งมาเพื่อนำเข้าพิจารณาในบอร์ด กสทช. ทั้งนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ สำหรับเทคโนโลยีท่อร้อยสาย Micro duct จำนวน 14-21 ไมโครดัก มีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมาตรฐานเดียวกับมหานครทั่วโลก