พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมอนุมัติงบประมาณสำหรับใช้ในแผนการเฝ้าระวัง 148 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดในโรคดังกล่าวขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 61 จนถึงปัจจุบันพบการระบาดทั้งสิ้นใน 17 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป 10 ประเทศ แอฟริกา 4 ประเทศ และเอเชีย 3 ประเทศ โดยประเทศในเอเชียที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คือ จีน, มองโกเลีย และเวียดนาม โดยรายงานล่าสุด เมื่อเดือนก.พ.62 พบว่ามีการทำลายสุกรในจีนไปแล้ว 9.5 แสนตัว ในมองโกเลีย 2,992 ตัว และในเวียดนาม 46,600 ตัว รวมทั้งสิ้น 999,592 ตัว ซึ่งความเสียหายของทั้ง 3 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท
โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคดังกล่าวได้จากหลายปัจจัย เช่น การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรของนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดเข้ามาในประเทศไทย, การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกร และซากสุกรผ่านช่องทางชายแดน, ความเสี่ยงในการปนเปื้อนไวรัสจากตัวเกษตรกร หรือสัตวแพทย์ที่ไปศึกษาดูงานในประเทศที่เกิดการระบาดของโรค, ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกสุกร และอาหารสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
"สถานการณ์การระบาดของทั้ง 3 ประเทศ ยังไม่สามารถควบคุมได้ ประเทศไทยจึงเสนอแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคดังกล่าว...กระทรวงเกษตรฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอ ครม.ให้อนุมัติแผนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการระบาดของโรคนี้ในไทย เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเกษตรกร และผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรกว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งป้องกันและแก้ปัญหาการติดเชื้อร้ายแรงของโรคระบาดในภาคปศุสัตว์อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ" พ.อ.อธิสิทธิระบุ
สำหรับแผนปฏิบัติการรับมือการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แบ่งเป็น 2 ส่วน
1. โครงการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ โดยจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
2. แผนการดำเนินงานและแผนใช้จ่ายงบประมาณ โดยแผนการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ช่วงแรก ระยะก่อนเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการเฝ้าระวัง เตือนภัย ป้องกันโรค และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุในช่วงก่อนมีการระบาด
- ช่วงที่สอง ระยะเผชิญเหตุการณ์ระบาด จะมีการตอบสนองในภาวะฉุกเฉินเมื่อมีการระบาดของโรค โดยการจัดการและควบคุมโรคอย่างมีมาตรฐาน
- ช่วงที่สาม ระยะหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการฟื้นฟู ปรับสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกร และผู้ได้รับผลกระทบให้กลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี มีคำยืนยันว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยังไม่มีการติดต่อไปสู่คน ดังนั้นขอให้ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรอย่าตื่นตระหนกกับเรื่องนี้