รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทั้งนี้ ร่างระเบียบฯ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับการโอนภารกิจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 อันจะทำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีความต่อเนื่องในการปฏิบัติภารกิจเตือนภัยพิบัติของประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบ มีดังนี้
1. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการ
2. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง และเพิ่มเติมให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ และกำหนดให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการ
3. กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบกำหนดตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่
4. กำหนดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และประสานกับหน่วยงานราชการในการศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
5. ในกรณีที่ต้องใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ หรือความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอทำความตกลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนด้านการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดตามความเหมาะสม
6. เพื่อประโยชน์ในการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการอื่น หรือคณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไปช่วยปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามปกติ
7. กำหนดให้หน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย