สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 1/2562 ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ (69.39%) รองลงมา คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม (46.85%) และเรื่องการงาน (46.19%)
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับความเครียดของคนไทยในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน สิ่งแวดล้อม และการเมืองลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งความเครียดในด้านต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อคนไทยในด้านสุขภาพจิต โดยส่วนใหญ่รู้สึกไม่มีความสุข (60.88%) และเบื่อหน่าย (64.85%) เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น (55.58%) ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (50.83%) ปัญหาหนี้สินและรายรับไม่พอกับรายจ่าย (44.28%) ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังเครียดเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง (64.01%) และการแบ่งพรรคแบ่งพวก (54.89%) รวมทั้งปัญหาการจราจร (58.85%) อีกด้วย
ส่วนที่เห็นว่า ความเครียดในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่เริ่มที่จะปรับตัวและสามารถรับมือกับความเครียดในเรื่องเหล่านี้ได้ดีขึ้น รวมทั้งคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่ได้มาจากการเลือกตั้งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ประหยัดและพอเพียง เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจจะเห็นว่า ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองและการแบ่งพรรคแบ่งพวก และปัญหาการจราจร เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงของการที่พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มที่จะฟอร์มทีมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมทั้งกำหนดนโยบายที่จะใช้เป็นแนวทางในการทำงานต่อไปในอนาคต หากรัฐบาลใหม่สร้างความมั่นใจแก่คนไทยและแสดงความตั้งใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจริงจังก็จะสามารถช่วยให้คนไทยมีความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลงและมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลใหม่มากยิ่งขึ้น
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) ทำการสำรวจกรณีศึกษาจากตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,019 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3–24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา