นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะนายกสภาวิศวกร เปิดตัวโมเดลแก้มลิงใต้ดิน BKK เพื่อแก้ไขปัญหาฝนตกน้ำท่วมสำหรับชาวกรุงเทพฯ ในรูปแบบแทงค์เก็บน้ำใต้ดิน เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนนไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ โดยมีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก อาทิ ลาดพร้าว บางซื่อ รามคำแหง ปทุมวัน เพลินจิต สุขุมวิท โดยเสนอใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ในการติดตามการทำงานของเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ทันที มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้การระบายน้ำไม่สะดุด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ
แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้วก็ตาม แต่ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด เช่น ปัญหาเครื่องสูบน้ำขัดข้องไม่พร้อมทำงาน และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไปยังอุโมงค์ระบายน้ำได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดของเทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็คือการสร้าง แก้มลิงใต้ดินตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9
แต่โครงสร้างของกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ระดับถนนต่ำกว่าแหล่งน้ำ ประกอบกับท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าถนน โดยเฉพาะบริเวณซอยที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เมื่อถึงช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตกชุก จึงทำให้เกิดปัญหาระบายน้ำไม่ทัน และท่วมขังจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
โดยแก้มลิงใต้ดิน BKK เป็นนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นแทงค์เก็บกักน้ำ โดยใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านในสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น โดยที่ไม่กระทบการใช้ประโยชน์จากผิวหน้าดิน ที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถทำได้ทันที เช่น บริเวณสวนสาธารณะสวนจตุจักร บึงในพื้นทีโรงงานยาสูบ ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการกักเก็บน้ำในช่วงเวลาที่มีฝนตกชุกได้ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก ได้แก่ ลาดพร้าว บางซื่อ รามคำแหง ปทุมวัน เพลินจิต สุขุมวิท ซึ่งหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาที่มีฝนตกชุกที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากแก้มลิงใต้ดิน BKK คือ การใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก เพื่อระบายน้ำออกไปยังอุโมงค์ใต้ดินที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลไม่สูง ที่ใช้หลักการระบายน้ำตามกฎของแรงโน้มถ่วง เพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ
พร้อมกันนี้ยังเสนอใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ในการติดตามการทำงานของเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ทันที มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้การระบายน้ำไม่สะดุด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯได้อย่างยั่งยืน ที่สามารถทดแทนระบบเดิมที่ใช้หลักการสูบน้ำขึ้นที่สูงต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลก พร้อมทั้งยังเสนอให้ใช้เทคโนโลยีการติดตามการทำงานของเครื่องสูบน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ทำงานของเครื่องสูบน้ำ และยังช่วยในการประเมินศักยภาพของเครื่องสูบน้ำได้จากศูนย์กลางได้ โดยเจ้าหน้าที่จะมีเวลาในการประเมินความพร้อมในกรณีที่อุปกรณ์ขัดข้อง ซึ่งสามารถตัดสินใจเคลื่อนย้ายอุปกรณ์จากพื้นที่ใกล้เคียง ไปใช้งานในพื้นที่ที่มีความจำเป็นได้ ช่วยให้ระบบการระบายน้ำไม่ขาดตอน และเป็นโมเดลที่แก้ปัญหาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ปัญหาอุทกภัยเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพฯ กำลังประสบ และได้รับการพูดถึงจากสังคมเป็นอย่างมาก มิใช่ปัญหา "อุทกภัย" แต่เป็น "ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก" อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การคมนาคม ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช้หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า แก้มลิงใต้ดิน BKK เป็นโมเดลที่หลายประเทศเลือกใช้ โดยเฉพาะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเอง ที่มีข้อกำจัดด้านพื้นที่คล้ายกับกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงมั่นในว่าโมเดลดังกล่าวจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ในระยะยาว
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ยังเดินหน้าจัดตั้ง "สถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ" หรือ Smart City Innovative Research Academy (SCiRA) เพื่อช่วยยกระดับกรุงเทพฯ สู่การเป็นนครอัจฉริยะสมบูรณ์แบบ ด้วยการใช้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ อันเป็นการผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมขั้นสูง
โดยทางสถาบันฯ กำลังพัฒนาฟีเจอร์ "ระบบรายงานสภาพเมืองกรุงเทพมหานคร" แบบครบวงจร ทั้งระบบการรายงานสภาพอากาศ รายงานน้ำท่วมถนน รายงานสภาพจราจรและอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนระบบเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดรายงานสภาพจราจร ผ่าน scirakmitl.net เพื่อให้ประชาชน และหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เพื่อมอนิเตอร์สภาพกรุงเทพมหานคร และช่วยวางแผนบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ที่กระทบกับคนกรุงแบบบูรณาการ