นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 นั้น สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างฯ หลายแห่งยังคงมีปริมาณน้ำน้อย ทางกรมชลประทานจึงมีความต้องการขอรับการสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ต่ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งมีจำนวน 13 แห่ง รวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้ง ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำนางรอง อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.หนองบัวลำภู อ่างเก็บน้ำห้วยส้มโฮง จ.นครพนม อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ อ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ จ.อุบลราชธานี อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน จ.กาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง
โดยทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งดำเนินการวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้แสดงแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจวางแผน การขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงร่วมด้วย
ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก พื้นที่ภาคกลางที่ จ.ลพบุรี จ.ราชบุรี พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุบลราชธานี จ.ขอนแก่น จ.สุรินทร์ จ.นครราชสีมา พื้นที่ ภาคตะวันออกที่ จ.สระแก้ว และพื้นที่ภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และจ.สงขลา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่การเกษตร พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การ น้อยกว่าร้อยละ 30 จากการประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง