พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความลาดชันน้อย และมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำไม่สามารถไหลตามธรรมชาติลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ เช่น การก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณวงเวียนบางเขน โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) บริเวณถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง ซึ่งทั้ง 2 โครงการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 56 จุด
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตก ขณะฝนตก และหลังฝนหยุดตก ซึ่งสำนักการระบายน้ำมีศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองแขม ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองบอน และศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองจอก ซึ่งศูนย์เรดาร์ดังกล่าวจะทำการตรวจจับกลุ่มเมฆฝน โดยจะทราบล่วงหน้าก่อนที่กลุ่มเมฆฝนจะเข้าพื้นที่ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นสำนักการระบายน้ำจะแจ้งเตือนผ่านระบบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าพื้นที่เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนที่ฝนจะตก รวมถึงการลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมา
ผู้ว่ากทม. กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำแล้วเสร็จหลายโครงการ หากฝนตกลงมาในปริมาณมากเกินกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรุงเทพมหานครจะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่เท่ากัน