นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ล็อตแรกจากองค์การเภสัชกรรม แบบหยดใต้ลิ้นชนิด THC สูง ขนาด 5 ml จำนวน 4,500 ขวด ซึ่งจะทยอยส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ สุขภาพละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง และผู้ป่วยในโครงการวิจัย 2 ประเภท ได้แก่ การศึกษาวิจัย และการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล เข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และใช้ในการควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็ง และจะได้รับเพิ่มอีก 2,000 ขวด เป็นชนิด CBD สูง ขนาด 10 ml จำนวน 500 ขวด และชนิด THC : CBD (1:1) ขนาด 5 ml จำนวน 1,500 ขวด รวมเป็นทั้งสิ้น 6,500 ขวด ภายในเดือนสิงหาคมนี้
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสารสกัดน้ำกัญชา 1 ล้านขวด ภายใน 5-6 เดือนนี้ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะทยอยผลิตสารสกัดกัญชาสำหรับใช้บรรเทาและรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง 200,000 ขวดต่อเดือนตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมและสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า น้ำมันกัญชาชนิด THC สูงที่ได้รับจำนวน 3,900 ขวดจะกระจายไปให้โรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี รพ.ระยอง รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.บุรีรัมย์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และในเดือนกันยายน จะได้เริ่มกระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทย ผ่านสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่งครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ รพร.เด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ภาคกลางที่รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ภาคใต้ที่รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาล็อตแรกจำนวน 600 ขวด ที่กรมการแพทย์ได้รับเป็นชนิด THC สูง จะนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง 100 ขวด เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน อีก 500 ขวด จะนำไปศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในหนูทดลอง รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง สำหรับน้ำมันกัญชาชนิดที่มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD 1 : 1 และ CBD สูงที่จะได้รับนั้น จะมอบให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย และการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว บางส่วนจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยา สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) และอภ.
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้ปลูกและผลิตสารสกัดกัญชา เป็นเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade โดยคำนึงถึงความปลอดภัย (Safety) มีสารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ของยาใกล้เคียงกันหมด (Consistency) และต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy) มีการควบคุมมาตรฐานการปลูกให้ปลอดเชื้อรา มีการควบคุมแสงและควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตเป็นยา มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามสัดส่วนความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัยและใช้รักษาโรค ปราศจากการปนเปื้อน โลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช สำหรับการสกัดในล็อตที่ 2 จากการปลูกในรอบที่ 1 นั้น คาดว่าจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชาเพิ่มอีกประมาณ 3,500 ขวด ในเดือนกันยายนนี้ รวมเป็นประมาณ 10,000 ขวด
ส่วนการดำเนินการในระยะเร่งด่วนตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม จะทำการปลูกในรอบที่ 2 ซึ่งจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชาประมาณ 10,000 ขวดทุก 5 เดือน จากนั้นจะได้อีกเดือนละ 30,000 ขวดจากแหล่งวัตถุดิบกัญชาขององค์การเภสัชกรรมเอง และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ที่จะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งจะมีปริมาณวัตถุดิบดอกกัญชาแห้งเพิ่มมากขึ้นจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร
สำหรับโครงการระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงอาคารเพื่อขยายพื้นที่ปลูกทั้งแบบ Indoor และ Greenhouse ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000-200,000 ขวด คาดว่าจะสามารถปลูกได้ในต้นปี 2563 อีกทั้งจะดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ไทยให้ได้สารสำคัญทั้งชนิดและปริมาณที่เหมาะสม และปลูกในสภาพอากาศของประเทศไทยได้ ส่วนโครงการระยะที่ 3 เป็นการขยายพื้นที่การปลูกและการผลิตสารสกัดกัญชาสู่ระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงการขยายเครือข่าย โดยสร้างความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน องค์กร หน่วยงานอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นต่อไป