นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (8 ส.ค.62) มีจังหวัดประกาศเขต การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนแล้ง) 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ศรีสะเกษ และสุพรรณบุรี รวม 6 อำเภอ 39 ตำบล 461 หมู่บ้าน
โดยเพชรบูรณ์ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวม 16 ตำบล 221 หมู่บ้าน, นครสวรรค์ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตากฟ้า และอำเภอไพศาลี รวม 12 ตำบล 102 หมู่บ้าน, ศรีสะเกษ ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไพรบึง และอำเภอเมืองจันทร์ รวม 9 ตำบล 132 หมู่บ้าน และ สุพรรณบุรี ประกาศเขตฯ (ฝนแล้ง) ในอำเภอเดิมบางนางบวช รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้านทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
ด้านนายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า กปภ.ยังคงร่วมกับกองทัพบกและภาคีเครือข่ายโครงการ "ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง" ดำเนินภารกิจหลักของโครงการด้วยการสนับสนุนน้ำประปาสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนและรถบรรทุกน้ำของกองทัพบก ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น ณ จุดจ่ายน้ำของ กปภ. ทั้ง 234 สาขาทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 นับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในเดือนมีนาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กปภ. ได้ร่วมสนับสนุนน้ำประปาสะอาดโดยไม่คิดมูลค่ากว่า 42 ล้านลิตร
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ กปภ. ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินงานและลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฝนตกน้อยกว่าปกติ พร้อมประสานหน่วยงานในพื้นที่เร่งดำเนินการสูบน้ำดิบเข้าแหล่งกักเก็บน้ำสำรอง ควบคู่กับการตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบ ปรับปรุงแหล่งน้ำให้มีขนาดความจุเพิ่มขึ้น ตลอดจนจัดเตรียมกำลังคน รถบรรทุกน้ำ ตรวจสอบสภาพเครื่องสูบน้ำ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้ทันทีหากได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่