3 ผู้บริหารองค์กรสื่อร่วมถกประเด็น "ข่าวปลอม"กับบทบาทสื่อมวลชนบนเวทีสัมมนาสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

ข่าวทั่วไป Friday August 16, 2019 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุมลพันธ์ โกศลสิริเศรษฐ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมหารือถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการแก้ปัญหาข่าวปลอม บนเวทีอภิปราย "บทบาทสื่อในการกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน" ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

นายก้าวโรจน์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ข่าวปลอมกลายมาเป็นปัญหานั้น เป็นผลมาจากพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่คนรับรู้ข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก แต่ด้วยการขยายตัวของโซเซียลมีเดียได้เข้ามาทำให้ช่องทางการนำเสนอข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถสร้างเรื่องของตนเองออกมาให้คนเข้ามาอ่านและแชร์กันต่อ ๆ ไป ในขณะที่สื่อมวลชนเองยังคงยึดติดกับแนวทางการนำเสนอข่าวแบบเก่า ๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้อ่านบนโลกโซเซียลที่ต้องการความรวดเร็ว หวือหวา และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ปัญหาข่าวปลอมโหมกระพือขึ้นมาอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้

นายก้าวโรจน์กล่าวต่อไปว่า สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์เอง ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับแพลตฟอร์มที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นช่องทางหลักในการเสพข้อมูลข่าวสารของผู้คนในปัจจุบัน ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมมือกันเพื่อคอยสอดส่องดูแล ตลอดจนหาวิธีป้องกันการปัญหาดังกล่าวมาตลอด พร้อมเสริมว่า สิ่งที่สมาคมทำให้ทุกวันนี้ก็คือการให้การฝึกอบรมแก่บุคลากร รวมถึงนักศึกษาที่จะก้าวมาเป็นสื่อมวลชนในอนาคตให้ตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมในการทำข่าวที่มีคุณภาพมอบให้ประชาชน แต่การควบคุมข่าวปลอมนั้นอาจทำให้แค่เพียงในองค์กรสื่อที่เป็นองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีตัวตนชัดเจน ซึ่งสมาคมก็เปิดโอกาสให้มีการแจ้งมาหากพบเห็นการนำเสนอเรื่องราวที่ไม่เหมาะสม แต่หากนื้อหาที่มาจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เป็นบุคคลทั่ว ๆ นั้น ต้องยอมรับว่ายากต่อการควบคุม การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือกับปัญหานี้

สื่อต้องมั่นคงในสถานะและบทบาทท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ด้านนายเขมทัตต์ ก็ได้อธิบายถึงแนวทางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้ว่า การเป็นสื่อมวลชนที่ดีไม่ควรเปลี่ยนไปตามโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนควรต้องมีความมั่นคงในสถานะและบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการรายงานบอกเล่าเรื่องราวที่เห็นควรให้ผู้คนหรือสังคมได้รับรู้ ในขณะเดียวกันหากเรื่องราวลึกซึ้ง ก็ต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ข้อมูลครอบคลุมครบทุกด้าน โดยไม่มีการใส่ความเห็นที่อาจมาจากอคติ หรือความไม่รู้จริงเข้าไปในข่าว นี่เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนได้รับการบ่มเพาะกันมา แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีอยู่มากมายทุกวันนี้ส่วนใหญ่กลับไม่ใช่คนที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนอย่างแท้จริง ดังนั้น การจะแก้ปัญหาข่าวปลอมได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายรวมถึงในระดับประเทศด้วย

ขณะเดียวกันนางสุมลพันธ์ก็ได้กล่าวถึงบทบาทสื่อกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนด้วยว่า กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภายใต้การการดูแลของรัฐ จึงมีหน้าที่ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลไทยกับต่างประเทศตามนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์เองก็มีการนำเสนอข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนไทยได้รับรู้ ทั้งในเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี วัฒนธรรม และเรื่องอื่น ๆ โดยยึดหลักในการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นความจริง โดยปราศจากเอนเอียงหรือเลือกข้าง

เช่นเดียวกับคุณหยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ที่กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน และเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงความร่วมมือของทั้งสองประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนั้น บทบาทในเชิงสร้างสรรค์ของสื่อจึงมีความสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจ ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนกำลังก้าวสู่อนาคตที่สดใสเช่นนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ