รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 62-63 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1.1 ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสถานพยาบาลที่ สธ.กำหนด หรือสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลดำเนินการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปี, ประกันสุขภาพในกรณีที่แรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการที่เข้าระบบประกันสังคมแต่สิทธิประกันสังคมยังไม่มีผล หรือกรณีแรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการที่ไม่เข้าระบบประกันสังคม, ประกันสุขภาพผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปี
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประกาศ สธ.เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2562 และประกาศ สธ.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขว่าด้วยใบรับรองแพทย์ของคนประจำเรือเพื่อแสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือและเฝ้าระวังโรคป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่รุนแรงและก่อให้เกิดโรคระบาดผิดปกติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
1.2 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตรวจอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาอนุญาตแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี และผู้ติดตามจะได้รับอนุญาตตามระยะเวลาที่บิดาหรือมารดาได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
กรณีเอกสารประจำตัวของแรงงานต่างด้าวมีอายุเหลือน้อยกว่า 1 ปี ให้อนุญาตแรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเท่ากับอายุเอกสารประจำตัว หากประสงค์จะอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไป ต้องขอมีเอกสารประจำตัวฉบับใหม่กับหน่วยงานของประเทศต้นทาง เมื่อได้รับเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองย้ายรอยตราประทับอนุญาตไปยังเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ และขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ตามสิทธิ
1.3 ให้ รง. โดยกรมการจัดหางานดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้กับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) มีระยะเวลาอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยใบอนุญาตทำงานจะอยู่ด้านหนึ่งของบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย, ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศได้รับยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560
1.4 ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
1.5 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.62-31 มี.ค.63 หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 มี.ค.63 โดยสถานที่ดำเนินการมี 2 รูปแบบ คือ 1.ที่ตั้งสำนักงานของแต่ละหน่วยงาน 2.ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) กทม.ให้เป็นไปตามอธิบดีกรมการจัดหางานกำหนด (2) จังหวัด ให้เป็นไปตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด ทั้งนี้ สถานที่ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จะพิจารณาในกรอบระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.62-31 มี.ค.63
1.6 ให้ รง.โดยกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานหลัก และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แนวทางการบริหารจัดการดังกล่าวให้นายจ้างผู้ประกอบการแรงงานต่างด้าว และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องและทั่วถึง
1.7 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดี นายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศได้รับยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ คือ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่มีใบอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ, ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport : TP) หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ให้ถือเป็นการดำเนินการในลักษณะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร
ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะดำเนินการตามแนวทางนี้ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานก่อนที่ระยะเวลาการอนุญาตทำงานเดิมจะสิ้นอายุ และกระบวนการดำเนินการให้คำนึงถึงความสะดวก ลดการใช้เอกสาร รวมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไป (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตทำงานไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา ดังนี้ (1) ใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มี.ค.63 ให้อนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.64 เท่ากันทุกคน (2) ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.-30 มิ.ย.63 ให้อนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 31 มี.ค.65 เท่ากันทุกคน
หลังจากวันที่ 30 ก.ย.64 หรือวันที่ 31 มี.ค.65 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่ดำเนินการตามแนวทางนี้ หากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป ต้องดำเนินการตามกระบวนการนำเข้ามาทำงานในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU)
ทั้งนี้ให้นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ยื่นเอกสารเพื่อแสดงถึงการได้รับอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่สิ้นสุด ได้แก่ บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) สัญญาจ้าง สำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง สำเนาใบอนุญาตทำงานหรือหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงานกับหน่วยงานของกรมการจัดหางานได้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.62-31 มี.ค.63