รมว.เกษตรฯ ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งภาคอีสาน สั่งเร่งสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มเติม

ข่าวทั่วไป Thursday August 29, 2019 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี โดยแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งบริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลักเหลืออยู่น้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 5 เขื่อนได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ, เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี, เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร นครพนม อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งได้ช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำส่งเข้าสู่คลองชลประทานและจัดส่งรถบรรทุกน้ำไปให้ทุกพื้นที่ ส่วนพื้นที่ประสบอุทกภัยมี 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ได้ช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง เปิดบานระบายน้ำของลำน้ำที่ไปบรรจบกับลำน้ำโขง และเร่งผลักดันน้ำออกเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงจึงกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ วางมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง โดยหลังสิ้นสุดฤดูฝนจึงมีนโยบายให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำสู่เขื่อน ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำประจำท้องถิ่น และแก้มลิงต่างๆ อีกทั้งพื้นที่ท้ายเขื่อนให้สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มให้มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าโครงการเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและแก้มลิงซึ่งจะทำให้มีน้ำเสริมไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งในวันนี้ รมว.เกษตรฯ ได้มาตรวจสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีน้ำอยู่เกณฑ์น้อย และคาดว่าเมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 62 ซึ่งเริ่มต้นฤดูแล้งจะมีน้ำเหลืออยู่จำนวน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22% ของความจุอ่าง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำเพื่อการทำนาต่อเนื่อง แต่วางแผนจัดสรรเพื่อการเพาะปลูกพืชน้ำน้อยและว่าจ้างแรงงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชีซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ขนาดกลาง 69 แห่ง และขนาดเล็ก 50 แห่ง ปริมาตรน้ำใช้การได้ 472 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 12% ของความจุรวม ทั้งน้ำแม่น้ำชีมีความยาว 1,047 กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน 1,303,404.63 ไร่ ครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ที่ผ่านมาหากฝนทิ้งช่วงจะมีน้ำไม่เพียงพอ ขณะที่การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนในพื้นที่ลุ่มน้ำมีน้อย น้ำจึงไม่พอเพียง พื้นที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำประจำท้องถิ่น ส่วนในฤดูน้ำหลาก แหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะเก็บน้ำได้หมดจึงทำให้เกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะในปีที่ฝนมาก น้ำในอ่างเก็บน้ำมีมาก ต้องเพิ่มการระบายส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ ดังนั้นจึงจะเร่งนำนโยบายเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำของ รมว.เกษตรฯ มาดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ