นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/62 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ 78.7% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2560 ซึ่งหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2560
สำหรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2/62 ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในระดับสูง 9.2% โดยมียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 7.8% และยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 10.2%
ทั้งนี้ ยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/62 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์ 32.3% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5% และสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ รวมถึงมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่าที่แท้จริง ทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่ ในไตรมาส 2/62 การจ้างงานลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้มีงานทำภาคการเกษตรลดลงต่อเนื่อง 4% เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ขณะที่ผู้มีงานทำภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้น 1.5%
โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 7.2% ,สาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 6.2% ,สาขาการศึกษาเพิ่มขึ้น 3.1% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 1.1% ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการค้าส่ง/ค้าปลีกลดลง 0.4% และสาขาการผลิตลดลง 0.5% ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกที่หดตัว
ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% เพิ่มขึ้นใกล้เคียง 0.92% ในไตรมาสทีผ่านมา แต่ลดลง 1.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 4.7% โดยในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 5.4% ขณะที่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3.7% ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 2.6%
สำหรับกรณีเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากผลการหดตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวนั้นส่งผลต่อการจ้างงาน ซึ่งการส่งออกที่หดตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานรวมประมาณ 5.1 ล้านคน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงอาจส่งผลต่อแรงงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่ง ครม.ก็ได้มีการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน และมาตรการอื่นๆเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภค และการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นไม่ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเกิน 80%
นายทศพร ระบุว่า ในส่วนของภาคท่องเที่ยวแนวโน้มเริ่มดีขึ้น การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าตัวเลขการท่องเที่ยวจะเป็นไปตามเป้า ส่วนการส่งออกจะต้องดูผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งทราบว่าจะมีการนำมาตรการด้านส่งเสริมการลงทุนและมาตรการด้านส่งออก เข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 6 ก.ย.นี้
นายทศพร กล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การบริการจัดส่งสินค้าด่วนถึงที่ เช่น Lineman, Grab, Foodpanda, Get และ Skootar ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกของธุรกิจอีคอมเมิร์ช ทำให้หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการทบทวนกฏระเบียบ เพื่อให้ครอบคลุมการจ้างงานในประเภทใหม่ๆ เพื่อให้แรงงานภายใต้การจ้างงานที่ผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ ได้รับการคุ้มครองเหมือนแรงงานทั่วไป และผู้บริโภคที่ใช้บริการผ่านทางออนไลน์ได้รับบริการที่ดีและไม่ถูกหลอกหลวง
ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิด รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ เชื่อว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ส่งผลทำให้จีดีพีไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ 3% เนื่องจากจีดีพี ดูจากปัจจัยเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องหนี้ครัวเรือน