นายกฯ เตรียมลงตรวจความเสียหาย และเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 3, 2019 08:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความเป็นห่วงสถานการณ์ภายหลังพายุโพดุลได้ถล่มในหลายจังหวัดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเตรียมลงตรวจพื้นที่ รับฟังปัญหา และเยี่ยมประชาชนเพื่อจะได้ช่วยเหลือ บรรเทาความเสียหายและสร้างขวัญใจกำลังใจให้แก่ประชาชน

โดยวันพุธที่ 4 กันยายน ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีและคณะ เช่น รมว.มหาดไทย รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรมว.คมนาคม จะเดินทางไปยังจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหาที่ศาลากลาง จังหวัดพิษณุโลก หลังประชุมเสร็จสิ้น จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์และเยี่ยมประชาชน ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางไปยังจังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่ประตูระบายน้ำบ้านหาด สะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยให้ทำทันทีที่น้ำลด ทั้งนี้ หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยนาข้าวได้ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและพืชอื่นๆ ได้ไร่ละ 1,690 บาท

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุที่ทำให้ฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจึงได้สั่งการให้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกในพื้นที่ทางตอนบน ที่เป็นห่วงขณะนี้คือ การระบายน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยอธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่า ทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 กันยายน จากเดิมระบายอยู่ที่ 424 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 480 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 140 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งขวาจากเดิมรับน้ำจากเดิม 230 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 260 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ได้กำชับว่า การเพิ่มปริมาตรการระบายต้องไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาจะต้องมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นไป ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ