จับตาแก้วิกฤติน้ำท่วมเรียกคืนศรัทธาและความเชื่อมั่น"รัฐบาลประยุทธ์"

ข่าวทั่วไป Wednesday September 11, 2019 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ราวๆ ส.ค.-ต.ค.ของปีทีไรเป็นต้องลุ้นทุกครั้งว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ และน้ำท่วมปีนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการเข้ามาบริหารประเทศของ"รัฐบาลลุงตู่ 2"ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เท่ากับรัฐบาลต้องรับมือศึกรอบด้านที่หนักหนาสาหัสพอๆ กัน

ศึกด้านแรกคือกระแสโจมตีที่มีต่อรัฐบาล"ประยุทธ์" ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนา การฟอร์มรัฐบาลที่ใช้เวลาถึง 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาสกว่าจะลงตัว หน้าตารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่บางคนร้อง"ยี้"บางคนปรามาสว่าไม่น่าจะไปรอด..

งานแรกของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาต่างๆ ที่สะสม หมักหมม มาตลอดไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ปัญหาปากท้องประชาชน ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ สงครามการค้า ส่งออกติดลบ การท่องเที่ยวชะลอตัว งบประมาณปี 63 ล่าช้า ภาพรวมความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลที่มีต่องทีมเศรษฐกิจและรัฐบาล โดยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล๊อตใหญ่วงเงินกว่า 3.16 แสนล้านบาท ผ่าน 3 มาตรการหลัก

ขณะที่ รมต.เศรษฐกิจก็มั่นใจว่าการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และหากแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จัดทำออกมายังไม่เพียงพอต่อการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย รัฐบาลก็พร้อมที่จะพิจารณาออกมาตรการอื่นๆ มาเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะฝ่ายตรงข้ามก็ยังหาประเด็นใหม่ๆ มาโจมตีไม่ว่าจะเป็นกรณีพล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ไม่ครบถ้วน, แก้รัฐธรรมนูญ

อีกทั้งรัฐบาลเริ่มทำงานไปได้ไม่เท่าไหร่ศึกด้านที่ 2 ก็บังเกิด หลายจังหวัดเกิดน้ำท่วม ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นเผชิญพายุ"โพดุล"สร้างความเสียหายแก่ชาวบ้าน 9 อำเภอ 48 ตำบล 341 หมู่บ้าน 42,000 กว่าครัวเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนรวมกว่า 210,000 ราย จนต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม 7 อำเภอ โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคืออำเภอบ้านไผ่ ได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน 12,000 ราย ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ถือเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปีของจังหวัดขอนแก่นเพราะที่ผ่านมามีน้ำท่วมแต่ไม่มาก แต่ปีนี้ท่วมหนักและเป็นวงกว้าง ขณะที่อุบลราชานีน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 17 ปี

นอกจากพายุ"โพดุล" ก็ยังมีพายุ "คาจิกิ"....

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ สกลนคร ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว กระบี่ ระนอง และชุมพร รวม 175 อำเภอ 896 ตำบล 6,400 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 370,749 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 28 ราย (ยโสธร 8 ราย ร้อยเอ็ด 6 ราย อำนาจเจริญ 4 ราย ขอนแก่น 3 ราย พิจิตร 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย พิษณุโลก 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย สกลนคร 1 ราย น่าน 1 ราย) ผู้บาดเจ็บ 1 คน (ชัยภูมิ)

โดยขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ อพยพประชาชน 20,813 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 56 จุด (อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี) ซึ่งสถานการณ์โดยรวมระดับน้ำลดลงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขัง

พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวมถึงแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี คลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท- อยุธยา รวม 7 จังหวัด ได้แก่ 1.อุทัยธานี อ.เมืองอุทัยธานี 2.ลพบุรี อ.บ้านหมี่ อ.ท่าวุ้ง และอ.เมืองลพบุรี 3.ชัยนาท อ.สรรพยา 4.สิงห์บุรี อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และ อ.พรหมบุรี 5.อ่างทอง อ.ไชโย อ.เมืองอ่างทอง อ.ป่าโมก อ.โพธิ์ทอง และอ.วิเศษชัยชาญ 6.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.ผักไห่ และ อ.เสนา และ 7.สุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า

งานนี้ท้าทายความสามารถรัฐบาลบิ๊กตู่และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.ดิจิทัลที่ดูแลกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งต้องมีความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศ แจ้งเตือนสภาพอากาศ พายุ ฝนฟ้า

ล่าสุด รมว.ดิจิทัลก็เพิ่งไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมอุตุนิยมวิทยาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยทำงานให้มีความแม่นยำมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการพยากรณ์อากาศที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้นไปกว่านี้ โดยกระทรวงจะพยายามเพิ่มศูนย์พยากรณ์อากาศเพิ่มขึ้นเพื่อให้ความแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้มากขึ้น โดยจะเริ่มในพื้นที่ที่ดำเนินการยากเช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วขยายออกไปทั่วประเทศ โดยจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดภายใน 2 ปี นอกจากนี้จะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมได้นำมารวบรวมเป็น Big Data เพื่อทำการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดทันที พร้อมแนะนำให้เกษตรกรดูแลข้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ สำหรับแปลงข้าวที่ตายเสียหายโดยสิ้นเชิง ให้เกษตรกรติดต่อขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไว้ จะมีการให้ความช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท

ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและเป็นปัญหาคาราคาซังของประเทศไทยมายาวนาน รัฐบาลจึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจหรือ "วอร์รูมน้ำ" แบบถาวรโดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นการขยายการทำงานให้ทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม รายงานผลให้รับทราบถึงปริมาณน้ำในเขื่อนและแม่น้ำทั่วประเทศ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม รองรับอุทกภัยและภัยแล้ง และยังจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อรวบรวมข้อมูลน้ำจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการไว้ในจุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งทั้งระยะสั้นและระยะยาวเป็นไปอย่างมีระบบ รวมถึงการแจ้งข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน

ขณะเดียวกัน หลายๆหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แสดงพลังยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งรับบริจาคเงิน สิ่งของ ถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งเตรียมช่วยเหลือฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือเวียนใก้กับสถาบันการเงินทุกแห่ง ขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้างจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 การคงสถานะจัดชั้นสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือไว้ตามเดิมก่อนเกิดเหตุสาธารณภัย เป็นต้น

จะว่าไปปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งเหมือนปัญหาโลกแตกของประเทศไทย ไม่ว่าผ่านไปกี่ปีๆ ปัญหาก็ยังมี ไม่ว่ารัฐบาลไหนมา ต่อให้เก่งแค่ไหน ถ้าเจอวิกฤตน้ำท่วมเล่นงานทำเศรษฐกิจในประเทศเสียหายก็มีสิทธิไปไม่รอดเหมือนกัน จึงเป็นบททดสอบฝีมือการบริหารจัดการของ "รัฐบาลประยุทธ์"ว่าการกลับมาบริหารประเทศครั้งนี้ที่มีแต่ปัญหารุมเร้าจะสามารถประคองประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างไร เพราะถ้าน้ำท่วมนาน ความช่วยเหลือไปไม่ทั่วถึง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล และจะเป็นการสร้างโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหยิบยกประเด็นนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นแน่ว่ารัฐบาลใช้งบประมาณสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมน้อยกว่างบประมาณที่ใช้ทำอย่างอื่น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาหรือใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าใดนัก

แต่ถ้าแก้วิกฤติน้ำท่วมคราวนี้ได้สำเร็จ เชื่อว่าจะเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไม่น้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ