น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการปศุสัตว์ทุกจังหวัด ภาคเอกชนและเกษตรกรทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) เข้มข้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาวรุนแรงหนัก
ก่อนหน้านี้ได้เรียกประชุม ปศุสัตว์ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ หรือปศุสัตว์เขต 5 ประกอบด้วย จ.เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแพร่ ที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย เพื่อหารือมาตรการควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) โดยเฉพาะใน จ.เชียงราย กับพื้นที่รอยต่อ ซึ่งที่จังหวัดเชียงรายสามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคได้อย่างรัดกุม และเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงในรัศมีใกล้เคียงแล้วนำไปเชือดเพื่อแปรรูปปรุงสุกหรือฝังทำลาย ขึ้นกับผลการประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรคตามปกติแม้หมูจะยังไม่มีอาการป่วยตาย ทั้งนี้เพื่อตีกรอบความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัด
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ASF ไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล สามารถบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ และปลอดภัย
"กรณีที่พบสุกรป่วยตายเพียงไม่กี่ตัวและมีการซื้อสุกรของเกษตรกรรายย่อยเพื่อนำไปทำลายในรัศมีใกล้เคียง ทั้งที่สุกรยังไม่มีอาการป่วยนั้น ถือเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่ได้เตรียมการวางแผนไว้อยู่แล้ว ขอประชาชนอย่ากังวล ส่วนเกษตรกรทั่วทุกจังหวัดที่อยู่ในเขตเฝ้าระวัง ได้ผ่านการเข้าอบรมการป้องกันโรคและวิธีการรับมือครบแล้วทั้ง 100% จึงทำให้มีการแจ้งเตือนไปยังปศุสัตว์จังหวัดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปควบคุมเฝ้าระวังได้เร็ว ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้อง" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
สำหรับการจัดเตรียมค่าชดเชยในการทำลายสุกรนั้น กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวล และหากใครพบการป่วยตายของสุกร ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอให้เร็วที่สุด หรือแจ้ง อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยทันที เพื่อการเข้าไปกำจัดและควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้มีความเสี่ยงกระจายออกไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกคน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงความเข้มแข็งของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่ตั้งด่านเพื่อสกัดการนำหมูข้ามเขตเป็นร้อยด่าน ทำงานกันอย่างหนัก ทั้งยังเน้นย้ำให้ปศุสัตว์จังหวัดและด่านกักสัตว์ทั้งด่านหลักและด่านย่อยถึงหมู่บ้าน ทำการเฝ้าระวังทุกพื้นที่อย่างใกล้ขิด และสามารถคุมสถานการณ์อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นไปตามแผนรับมือทุกอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงมาตรการและการทำงานอย่างเข้มแข็งของภาครัฐและทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง