นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดย ปภ.ได้ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่แล้วพบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนหนักบางพื้นที่ ประกอบกับในช่วงวันที่ 22-23 กันยายน 2562 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 19-23 กันยายน 2562 อีกทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
โดยพื้นที่เสี่ยงภัย แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ภาคกลาง ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ประกอบด้วย ภาคกลาง ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต
ทั้งนี้ กอปภ.ก.ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือสถานการณ์ภัย โดยกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
นอกจากนี้ ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือขนาดเล็ก รวมถึงให้ผู้ควบคุมเรือตรวจสอบความพร้อมของตัวเรือ เครื่องยนต์ จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง โดยขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
ส่วนอิทธิพลพายุโซนร้อน"โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน (19 ก.ย. 62 เวลา 06.00น.) ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ในพื้นที่ 32 จังหวัด 182 อำเภอ 969 ตำบล 7,115 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 418,549 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 34 ราย ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ซึ่ง กรมป้องกันฯ ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยเป็นหลัก อีกทั้งสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ