นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บล. ภัทร และกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะอดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "มารยาท หรือจรรยาบรรณ ช่วยชาติได้มากกว่า?... กรณีเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกับการเมือง" จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า ในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง มีทรัพย์สินรวม 16 ล้านล้านบาท มีค่าใช้จ่ายถึง 5 ล้านล้านบาทมากกว่างบประมาณแผ่นดิน ซึ่งปัญหาที่สำคัญในการคัดเลือกคณะกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสากิจคือ ต้องเชิญคนดี คนเก่ง และคนกล้า เข้ามาเป็นบอร์ด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะหลายคนไม่อยากเข้ามาเป็นบอร์ดเพราะต้องใช้ต้นทุนตัวเองสูง รวมถึงต้องมีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย หากแสดงบัญชีทรัพย์สินผิดพลาดก็กลายเป็นคดีอาญาได้
นายบรรยง กล่าวว่า คณะกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจควรจะต้องทำงานต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนบอร์ดบ่อยครั้งคงไม่สามารถทำงานได้ และส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ข้าราชการเข้าไปนั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เพราะข้าราชการจะถนัดในเรื่องการใช้อำนาจรัฐมากกว่า
ส่วนพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562 ที่ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พยายามผลักดัน เมื่อกฏหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในหลักการและเนื้อหาที่ร่างไว้ มีการปรับเปลี่ยนถึง 2 ใน 3 ส่วน เพราะถูกคัดค้านจากภาคประชาสังคม และจากภาคแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เกรงว่า รัฐวิสาหกิจจะถูกแปรรูป แต่ยืนยันว่า ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องการแปรรูปแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ทำลายโอกาสในการปฏิรูปครั้งใหญ่
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองยังมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และแม้กฏหมายจะดีอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคนที่เลือกมามีคุณธรรมหรือไม่ ถ้าเลือกคนดีเข้ามาประสิทธิภาพก็จะเกิดขึ้น และภาคประชาชนต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยกันตรวจสอบว่า ตัวบุคคลมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งกระแสสังคมอาจมีส่วนสำคัญทำให้ไปสู่เป้าหมายได้
สำหรับพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562 มีข้อดีทำให้เกิดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคัดเลือกบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และช่วยกลั่นกลองผู้ที่เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้ในระดับหนึ่ง และช่วยยกระดับให้บุคคลที่เหมาะสมเข้ามาในตำแหน่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีคุณภาพมากขึ้น แต่ยอมรับว่า ยังมีบอร์ดรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ยังมีคุณภาพด้อยอยู่ ซึ่งต้องพัฒนาต่อไป
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงรูปแบบของคณะกรรมการ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างประเทศมีความแตกต่างกับไทยในหลายเรื่อง เช่น บอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างประเทศจะไม่มีข้าราชการประจำเข้าไปรับตำแหน่ง ซึ่งสำหรับประเทศไทยถือว่าแปลกที่สุดในโลก รวมถึงบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ จะมีการระบุคุณสมบัติ ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และประสบการณ์การทำงานอย่างเปิดเผย ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
นอกจากนี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนในประเทศเพียงอย่างเดียว สามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอื่นๆมารับตำแหน่งได้ และการรับค่าตอบแทนของบอร์ดในต่างประเทศจะรับน้อยกว่าผู้บริหารเกือบ 10 เท่า แตกต่างจากไทยที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจบางแห่งรับค่าตอบแทนสูงกว่าผู้บริหาร ทั้งๆที่ทำงานแค่เดือนละครั้ง และเมื่อค่าตอบแทนของรัฐวิสาหกิจแต่ละที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้กลายเป็นแรงจูงใจที่ผิดทำให้ทุกคนอยากไปนั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ให้ค่าตอบแทนสูงๆ
ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกลองรัฐวิสาหกิจ ต้องมีการสรรหากรรมการให้สอดคล้องเป้ายุทธศาสตร์ขององค์กร และเจ้าหน้าที่และพนักงานภายในองค์กรรัฐวิสาหกิจต้องมีความเข้มแข็งและช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้วย