นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยประสาน 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 17-20 ตุลาคม 2562 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และทะเลมีคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนสะสม ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในระยะนี้
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการตรวจสอบสภาพอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง บริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 ถึงปัจจุบันที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ ครอบคลุมพื้นที่รวม 32 จังหวัดเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยที่จังหวัดอุบลราชธานียังคงมีดินโคลนภายในบ้านเรือนบางส่วน ใต้ถุนบ้าน และบ้านเรือนยังชำรุดเสียหาย อยู่ระหว่างการซ่อมแซมและทำความสะอาด ส่วนสิ่งสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน 182 สาย สะพาน 27 สาย ฝาย 3 แห่ง วัด 98 แห่ง โรงเรียน 103 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9 แห่ง สถานที่ราชการ 13 แห่ง ได้ดำเนินการซ่อมแซมจนสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว
โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง และสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลยศรีสะเกษ และสกลนคร ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ตราด และสระแก้ว ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ระนอง และชุมพร รวม 184 อำเภอ 836 ตำบล 7,293 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 419,988 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 35,006 หลัง ผู้เสียชีวิต 40 ราย (ยโสธร 9 ราย ร้อยเอ็ด 6 ราย อุบลราชธานี 6 รายอำนาจเจริญ 5 ราย ขอนแก่น 3 ราย ศรีสะเกษ 4 ราย พิจิตร 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย สกลนคร 1 ราย น่าน 1 ราย สุรินทร์ 1 ราย)
ทั้งนี้ ปภ.ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัย อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการขนย้ายสิ่งของและการเดินทางในพื้นน้ำท่วมขัง รวมถึงเร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว