นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจไทย (Doing Business 2020) ของธนาคารโลกล่าสุดที่ประเทศไทยมีคะแนนขยับจาก 79.5 ขึ้นมาอยู่ที่ 80.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และอันดับขยับขึ้นจากที่ 27 มาอยู่ที่ 21 ของโลกนั้นมาจากความร่วมมือกับ 36 หน่วยงานในการทำงานอย่างหนัก โดยคาดว่าในอนาคตจะมีหน่วยงานเข้ามาร่วมทำงานเพิ่มเติมมากขึ้น
"ปีนี้ถือว่าเราก้าวขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกได้แล้ว ในปีหน้าคงต้องมองถึงการทำอันดับในพรีเมียร์ลีกแล้ว" นายปกรณ์ กล่าว
เลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าวว่า แผนงานสำคัญที่จะดำเนินการต่อไปคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ประชาชนในเรื่องการเรียกสำเนาเอกสาร ซึ่งการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยเรื่องข้อมูลของประชาชน
"ในอนาคตเราจะสามารถใช้บัตรประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างเช่น ไม่ต้องพกใบขับขี่เพิ่มอีกใบ" นายปกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกขอให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องของผลคะแนนที่มีตัวชี้วัดในแต่ละปีแตกต่างกันไป มากกว่าจะพิจารณาเรื่องการจัดอันดับ โดยปีนี้มีตัวชี้วัด 10 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเริ่มต้นธุรกิจ 2.การขออนุญาตก่อสร้าง 3.การขอใช้ไฟฟ้า 4.การจดทะเบียนทรัพย์สิน 5.การได้รับสินเชื่อ 6.การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7.การชำระภาษี 8.การค้าระหว่างประเทศ 9.การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10.การแก้ปัญหาการล้มละลาย
เลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ระดับคะแนนของดัชนีชี้วัดบางด้านยังมีคะแนนต่ำอยู่นั้น เช่น การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง เป็นต้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้วภายในกรอบเวลาที่กำหนด
เลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแต่ยังมีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรค เช่น ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า รายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business ถือว่ามีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศจะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ และทำให้ภาครัฐได้เห็นช่องทางในการปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือกฎระเบียบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพได้ชัดเจน ตลอดจนการนำตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่มีระบบที่ดีมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับทิศทางการพัฒนาการให้บริการของกรมฯ เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจของประเทศไทยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น สอดรับกับการจัดอันดับที่ดีขึ้นของ Doing Business 2021 กรมฯ จะดำเนินการปรับปรุงระบบการจองชื่อนิติบุคคลให้สามารถตรวจสอบและทราบผลการอนุมัติการจองชื่อได้ทันทีโดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มความรวดเร็วมากขึ้น และปรับปรุงการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) พัฒนารูปแบบการกรอกข้อมูลรายการจดทะเบียนในระบบ e-Registration ให้ง่ายมากขึ้น รวมถึง เพิ่มช่องทางการยืนยันตัวตนผ่านทางเครื่องมือสื่อสารระบบออนไลน์ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมายืนยันตัวตนที่กรมฯ ประกอบกับการสร้างความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนให้นักธุรกิจรุ่นใหม่หันมาใช้ระบบ e-Registration เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจผ่านระบบ e-Registration แล้วจำนวน 24,473 ราย (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2562)
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนการดำเนินงานที่จะรวมขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร และการขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้างของสำนักงานประกันสังคมไว้กับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งหากเปิดให้บริการแล้วจะทำให้ภาพรวมของการจัดตั้งธุรกิจลดลงจาก 5 ขั้นตอน เหลือ 3 ขั้นตอน และใช้ระยะเวลาลดลงจาก 4.5 วัน เหลือเพียง 2.5 วัน
"กรมฯ มั่นใจว่าจะส่งผลให้ผลการพิจารณาการจัดอันดับในปีหน้ามีอันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ก่อให้เกิดแรงจูงใจและดึงดูดให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติมาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย โดยกรมฯ จะพัฒนาระบบการให้บริการด้านการเริ่มต้นธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาภารกิจทุกด้านให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส อันจะเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชนได้เป็นอย่างดี"นายวุฒิไกร กล่าว