พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ครั้งที่ 2/2562 ว่า ได้รับฟังผลการดำเนินงานของ กอ.รมน.ในปี 2562 และแผนการดำเนินงานในปี 2563 แล้วซึ่งหลายอย่างมีความก้าวหน้า หลายอย่างยังมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ภายในวันเดียว เพราะหลายอย่างมีความซับซ้อนจากภายในและภายนอก บางอย่างสามารถเปิดเผยได้ แต่บางอย่างเปิดเผยไม่ได้เพราะจะมีผลต่อการแก้ปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากจะประกาศก็จะกำหนดกรอบเวลาให้สั้นที่สุดเพื่อผลต่อการสืบสวนสอบสวนและเป็นการห้ามเดินทางไปมาในช่วงที่กำลังติดตามผู้ก่อเหตุ เพราะหากเราไม่สามารถปิดพื้นที่ได้ก็จะเกิดปัญหา ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจ
ส่วนการติดตามจับกลุ่มผู้ก่อเหตุจะเป็นกลุ่มหน้าขาวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ซึ่งวันนี้มีความคืบหน้า แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะต้องใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่ไปจับกุมใครก็ได้ และต้องใช้พยานหลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งมีข้อมูลทั้งปืน ปลอกกระสุนไว้หมดแล้วว่าใช้ปืนชุดไหนในการก่อเหตุ และทราบข้อมูลแล้วว่ากลุ่มไหนมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าในเร็วนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิธีการก่อเหตุนั้นใช้กลยุทธ์ในการก่อการร้ายคือการสร้างเหตุให้เกิดความรุนแรง กดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนา และการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่หากแก้ไขปัญหาผิดวิธีจะส่งผลให้ความรุนแรงมากขึ้นและผลกระทบจะตกกับประชาชนในพื้นที่
"ถ้าเรามองว่าเป็นการใช้ความรุนแรง เป็นการก่อการร้าย มันต้องมีหลายอย่างด้วยกันเป็นองค์ประกอบ เช่น มีการยึดพื้นที่ มีการใช้ความรุนแรง แต่ตรงนี้มีอย่างเดียวคือการใช้อาวุธสงคราม เพราะฉะนั้นเขาก็มุ่งหมายให้เกิดแรงกดดันกับรัฐ แต่ถ้าเราตีความผิดไป การแก้ปัญหาก็จะผิดก็จะรุนแรงขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลได้พยายามลดผลกระทบกับประชาชนได้มากพอสมควร หรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ แต่คนที่มีปัญหาส่วนใหญ่คือคนนอกพื้นที่ที่มองแต่เพียงในเรื่องผลกระทบสิทธิด้านมนุษยชนเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่ต้องการไปละเมิดสิทธิมนุษยนชน
ส่วนความคืบหน้าของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้กับทางมาเลเซียนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้ให้นโยบายในการพูดคุยไปแล้ว และจากที่ได้รับรายงานผลการพูดคุยก็ได้ให้แนวทางไปว่า อยากให้มีการพูดคุยกับผู้ที่มีบทบาทอย่างแท้จริงในการก่อเหตุ และต้องหาวิธีการที่จะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยและเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องมีการปรับวิธีการไปเรื่อยๆ เพราะการพูดคุยมีหลายระดับทั้งผู้นำทางการเมือง การทหาร และผู้นำทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ซึ่งกับผู้นำรุ่นเก่า มีแนวโน้มที่จะพูดคุยเพื่อสร้างสันติวิธีมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) นั้นยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยแทนเจ้าหน้าที่ และจากนี้ต้องมีการเสริมกำลังในพื้นที่มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธี และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทราบว่า ชรบ.ชุดนี้ต้องเข้าไปดูแลหมู่บ้าน แต่เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดจึงต้องไปตั้งจุดอยู่กลางสวนยาง ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงได้ง่าย ตนเองได้สั่งการไปแล้วว่าต้องมีการปรับในเชิงกลยุทธ์ และให้มีชุดลาดตระเวนให้รัดกุมมากกว่าเดิม
นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานในปี 2563 โดยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงและสถาบันหลักของชาติ การสร้างความรักความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ส่งเสริมให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ในการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์อย่างกว้างขวาง ส่วนงานด้านยาเสพติดนั้น จะเน้นการปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายของผู้ค้า ผู้มีอิทธิพล ลดจำนวนผู้ค้า และผู้เสพรายใหม่ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และให้ความสำคัญต่อการจัดทำฐานข้อมูล (BIG DATA) เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการแก้ไขปัญหา ประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งส่งเสริมสังคมดิจิทัลผ่านแอพลิเคชั่น One Click 360 องศา ป้องกันการแพร่ระบาดของข่าวปลอม และข้อมูลเท็จ (FAKE NEWS) สำหรับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบในการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านความมั่นคง และมิติด้านการพัฒนา ส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ สนับสนุนเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่งคั่ง ยั่งยืน" ขยายผลไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จ.สงขลา ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ให้เชื่อมโยงกับทุกมิติใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเปิดบริการท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา ในเดือนมิ.ย.63 นอกจากนี้ จะจัดให้มีระบบปฏิบัติงานของ WAR ROOM กอ.รมน. ในภาวะปกติเพื่อติดตามสถานการณ์ความมั่นคงจาก กอ.รมน.ภาค/กอ.รมน.จังหวัด และหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ในภาวะเตรียมพร้อม ซึ่งจะเป็นการยกระดับโดยมุ่งต่อเหตุการณ์สำคัญเร่งด่วนที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมรองรับและร่วมพิจารณาหาทางแก้ปัญหาที่อาจลุกลามบานปลายไปสู่ภาวะไม่ปกติ อย่างไรก็ดี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการประกาศพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงาน 3 ด้านดังนี้ 1.ด้านยุทธการ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้กำลังประชาชนดูแลพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้านของตัวเอง แทนกำลังทหารหลัก การบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน 2.ด้านการเมือง มุ่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ รณรงค์ให้ผู้เห็นต่างจากรัฐหันกลับมาต่อสู้ตามแนวทางสันติ ออกมารายงานตัว และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรทางกฎหมาย 3.ด้านการพัฒนา มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ตรงกับความต้องการ และตามศักยภาพพื้นที่ ผ่านโครงการพัฒนาของรัฐ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี