นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า รองนายกฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตามที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้า แบ่งเป็น ในเขต กปภ. 22 จังหวัด นอกเขต 38 จังหวัด
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน จำนวน 1,350 ล้าน ลบ.ม. โดยลุ่มน้ำที่จัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่จัดสรรน้ำเกินแผน จำนวน 495 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำภาคตะวันตกจัดสรรน้ำเกินแผน จำนวน 579 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำภาคใต้จัดสรรน้ำเกินแผน จำนวน 549 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปีจากข้อมูลดาวเทียม (ณ 7 พ.ย.62) พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.08 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 17.11 ล้านไร่
ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1.35 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 1.27 ล้านไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 0.08 ล้านไร่ ขณะที่การประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2562/63 จากข้อมูลดาวเทียม (7 พ.ย. 62) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 229,803 ไร่
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง โดยสถานการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลต่อภูมิภาคทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยมอบหมาย สทนช.เร่งดำเนินการใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลักดันและแก้ปัญหาแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาค และมาตรการภายในประเทศในระยะเร่งด่วนป้องกันผลกระทบกับวิถีชีวิตประชาชนและการประกอบอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภค-บริโภค
2.มอบหมายกระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัด (ริมแม่น้ำโขง) สร้างการรับรู้ความเข้าใจแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรและประมงได้รับทราบ และ 3.มอบหมายกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการการขนส่งและการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานมาตรการรับมือกับน้ำหลากช่วงฤดูฝนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ปี 2562 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด การตรวจสอบอาคาร และระบบชลประทานในพื้นที่ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นต้น
"รองนายกฯ มอบให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามมาตรการแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งเพื่อป้องกันภัยแล้ง และอุทกภัยทางภาคใต้ โดยต้องมีการเก็บกักน้ำทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 อย่างรัดกุมเป็นไปตามมาตรการที่กำหนด รวมถึงประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องรวมทั้งการช่วยเหลือของรัฐบาล และรายงานผลการดำเนินการต่อ สทนช.ทุกสัปดาห์เพื่อกำกับ ติดตามผลการดำเนินการ หรือปรับแผนดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์"นายสมเกียรติ กล่าว