นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สั่งเลื่อนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) เรื่อง "การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก." เพื่อรับฟังความคิดเห็น ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ใหม่ ออกไป เนื่องจากได้มีพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ที่ชุมนุมหน้ากระทรวงคมนาคมเพื่อคัดค้านการแปรรูป ขสมก.ต้องการเข้าร่วมด้วย ทำให้เกิดความวุ่นวาย
นายสุระชัย ยืนยันว่า แผนฟื้นฟู ขสมก.ที่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปมี 7 เรื่อง ได้แก่ 1. การจัดหารถโดยสารใหม่ 3,000 คัน 2. การใช้เทคโนโลยีให้บริการ ทั้ง ระบบ GPS เพื่อควบคุมการเดินรถ และระบบ E-Ticket ในการจัดเก็บค่าโดยสาร 3. การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ไม่ให้ทับซ้อน และเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า อย่างเป็นระบบ มี 4. การปรับโครงสร้างองค์กร 5. การเกษียณอายุก่อนกำหนด (แผนเดิม ลดพนักงาน 6,000 คนเศษ (พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร) 5.พัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ 7. การขอให้ภาครัฐรับภาระหนี้สิน
โดยมีการแก้ไข 2 เรื่อง คือ การจัดหารถโดยสารใหม่ 3,000 คัน และการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ โดยในการจัดหารถโดยสารใหม่ 3,000 คัน ซึ่งพนักงานเข้าใจว่าเป็นการจ้างเอกชนมาวิ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะไม่มีการให้เอกชนร่วมทุนแต่อย่างใด ตามแผนเดิม ขสมก.จะจัดรถให้ครบ 3,000 คัน ทั้งจากการเช่า การปรับปรุงรถเก่า และการซื้อ ส่วนแนวคิดใหม่ยังกำหนด จำนวน 3,000 คันเท่าเดิม แต่ปรับปรุงวิธีเป็นการเช่ารถโดยสารพร้อมบริการ จ่ายตามระยะทาง (กม.) ที่บริการจริง (Performance Based Contract: PBC) คนขับรถยังเป็นพนักงาน ขสมก.ทุกคน
"การเช่ารถโดยสารวิ่งเป็นการบริหารต้นทุนที่ดีที่สุด เพราะในอนาคตอีก 6-7 ปี รถไฟฟ้า 10 สาย จะเปิดให้บริการครบเกือบ 500 กม. รถเมล์จะต้องเปลี่ยนแปลงการวิ่งไปเป็นฟีดเดอร์เชื่อมกับรถไฟฟ้า การเช่ารถทำให้ปรับตัวง่ายกว่าการซื้อ และจะต้องวิ่งสั้นลงแต่ถี่มากขึ้น ดังนั้น อาจต้องใช้รถ 8 -9 เมตร ไม่ใช่ 12 เมตรเหมือนปัจจุบันที่รถเมล์วิ่งเป็นสายหลัก การเช่ารถ จะทำให้ปรับตัวได้ดีกว่าการซื้อรถมาวิ่ง อีกทั้งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความคุ้มทุนที่สุด และไม่กระทบต่อพนักงาน ขสมก."
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า การฟื้นฟู ขสมก.เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน โดยการจัดหารถใหม่ และจะมีการปรับปรุงเส้นทางใหม่เพื่อลดการซ้ำซ้อน การกำหนดเส้นทาง ลักษณะเป็น Liner Feeder Express และ Circle เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า การเดินรถสั้นลงและถี่มากขึ้น ซึ่งประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น ภายใต้ตั๋วโดยสารราคา 30 บาททั้งวัน
"เส้นทางเดินรถจาก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พหลโยธิน ไปถึงห้าแยกลาดพร้าว มีรถถึง 30 สาย ส่วนบนนถนนลาดพร้าวมีถึง 20 สายที่วิ่งทับซ้อนกันอยู่ ต้องปรับปรุงเส้นทางใหม่"
สำหรับการจัดหารถโดยสารใหม่ และโครงการเกษียณก่อนกำหนด ตามแผนฟื้นฟูเดิม ใช้วงเงินรวม 27,214 ล้านบาท ประกอบด้วย การซื้อรถใหม่ 14,111 ล้านบาท เช่ารถ 7,098 ล้านบาท และเกษียณก่อนกำหนด 6,004 ล้านบาท ขณะที่แผนปรับปรุงใหม่ใช้วงเงิน รวม 16,004 ล้านบาท โดยไม่มีการลงทุนจัดหารถใหม่ มีเพียงเงินขอรับการอุดหนุน (PSO) ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี และเกษียณก่อนกำหนด 6,004 ล้านบาทเท่านั้น