นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ความความพร้อม จำนวน 2 โครงการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2562 ในวันที่ 20 ธ.ค. 62 ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ
ดังนั้นแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 20 ปี ที่ สทนช.ได้ทำการศึกษา ซึ่งจะใช้งบประมาณในการลงทุนมากกว่า 110,230 ล้านบาทนั้น มีความสำคัญที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้เร่งจัดเตรียมการดำเนินการแผนงานทางเลือกให้มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในปีที่มีน้ำน้อย เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือ การให้สัมปทานเอกชนพัฒนาระบบน้ำสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว เป็นต้น โดยเฉพาะโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติม
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์และประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ของ สทนช. พบว่า ในอนาคตปี 2580 EEC จะมีความต้องการใช้น้ำ 3,089 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2560 ประมาณ 670 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม และมีการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ โดยแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน แบ่ง 2 ช่วง คือ ปี 2563-70 ประกอบด้วย การปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างฯ เดิม 6 แห่ง ก่อสร้างอ่างฯ ใหม่ 10 แห่ง ปรับปรุงระบบผันน้ำเดิม 2 ระบบ ก่อสร้างระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้เป็นแก้มลิง ก่อสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากทะเล เป็นต้น สามารถมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 706.19 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงปี 71-80 ประกอบด้วย ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ อุโมงค์ส่งน้ำอ่างฯ คลองพระสะทึง-คลองสียัด และระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น ประมาณ 166 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม เช่น การรณรงค์ส่งเสริมมาตรการ 3R การปรับปรุงท่อส่ง-จ่ายระบบประปา การปลูกพืชที่ได้ผลตอบแทนสูง ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการกรอบแผนการพัฒนาหนองหาร ปี 2563-70 ของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมดำเนินการตามกรอบแผนระยะเร่งด่วน ปี 2563-64 รวมทั้งหมด 36 โครงการ 1,146.28 ล้านบาท จากทั้งหมด 69 โครงการ วงเงินรวม 7,445.22 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ รวม 12 หน่วยงาน เช่น โครงการพัฒนาขยายเขตเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ารอบหนองหาร โครงการขุดลอกหนองหาร–ลำน้ำสาขา โครงการก่อสร้าง ปตร. ลำน้ำพุง–น้ำก่ำ โครงการศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลำน้ำก่ำ–พนังกั้นน้ำและแก้มลิง โดยกรมชลประทาน โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำป้องกันพื้นที่ชุมชน โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย กำจัดวัชพืช/ตะกอนดินในหนองหาร โดยกรมประมง กรมทรัพยากรน้ำ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น
ที่ประชุมฯ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ พบว่า มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการดำเนินการได้ภายในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 57 โครงการ เป็นโครงการที่ผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว 25 โครงการ วงเงิน 118,917 ล้านบาท และ ครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว 21 โครงการ วงเงิน 107,042 ล้านบาท เช่น แผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พร้อมอาคารประกอบ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ จ.ชัยภูมิ โครงการปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาบ้านฉาง (รองรับ EEC) โครงการปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา–ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนอีก 4 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม. พิจารณา ได้แก่ โครงการสำรวจความสูงภูมิประเทศด้วยแสงเลเซอร์ (LiDAR) ระยะที่ 2 โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามแนวพระราชดำริ (คลองผันน้ำคลองชุมพร) โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย มูลค่าร่วมทั้งหมด 11,875 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนอีก 32 โครงการ วงเงิน 396,921 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกระบวนการด้านงบประมาณและนโยบาย พร้อมทั้งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมหาทิศทางการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้รายงานความก้าวหน้าของโครงการให้ สทนช. ทุก 3 เดือน และให้ สทนช. จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายในแต่ละประเภท
"ที่ประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญในครั้งนี้ ยังได้รับทราบผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี และความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานติดตามการขอใช้พื้นที่ป่า สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและแนวทางการขับเคลื่อนด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าว