พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานการประชุมระดับนานาชาติ ในหัวข้อ "นโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบ เพื่อการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่า การประชุมนานาชาติในครั้งนี้ มีการอภิปรายใน 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 หัวข้อ นโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Policies, laws and regulations for sustainable water resources management) ส่วนที่ 2 หัวข้อ การใช้หลักธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกับการมีส่วนร่วมของภาครัฐ และภาคเอกชน (Good governance on water resources management with PPP Participation)
ส่วนที่ 3 หัวข้อ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านน้ำ (Water-related Disaster Risk Reduction) และส่วนที่ 4 หัวข้อ แนวทางในอนาคต : ทิศทางของหลักนิติธรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Way Forward: Direction on Rules of Law for Community Water Resources Management towards Sustainable Development)
"การประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา นโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นผลดีกับหน่วยงานของไทยที่จะสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์เพื่อสิทธิในการเข้าถึงน้ำของประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) มุ่งสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือปัญหาคุณภาพน้ำ ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีความยุ่งยาก ซับซ้อน กว่าในอดีตที่ผ่านมา และด้วยปัญหาที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และความเห็นต่างในการบริหารทรัพยากรน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการที่ไม่มีการบูรณาการและขาดธรรมาภิบาล ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม หลักการสากลยอมรับว่าระบบกฎหมายเป็นกลไกสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ ความยุติธรรม และป้องกันรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
กรณีของประเทศไทย รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำ จึงได้ออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับกลาง บูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำที่มีมากกว่า 40 หน่วยงานเข้าด้วยกัน
สำหรับในการประชุมครั้งนี้ มีภาคีเครือข่ายด้านน้ำ ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ผู้แทนจากองค์กรด้านน้ำจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมประชุม
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ธ.ค.62 คณะผู้เข้าร่วมประชุม จะลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโครงการการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนรังสิต อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ด้วย