นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คาดว่า จะสรุปแผนฟื้นฟูกิจการที่ปรับปรุงจากแผนเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ดขสมก.) ภายในเดือนม.ค. 2563 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และครม. พิจารณาต่อไป
โดยแผนฟื้นฟูฯ มีการแก้ไข 2 เรื่อง คือ การจัดหารถโดยสารใหม่ 3,000 คัน ซึ่งเดิมจะมีการซื้อ/เช่า และปรับปรุงรถเก่า เปลี่ยนเป็นเช่ารถโดยสารใช้พร้อมบริการ และการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ซึ่งหลังจากครม.อนุมัติแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนการจัดหารถ 1-2 ปี ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านกว่ารถใหม่เข้ามา จะต้องใช้รถเก่าที่มีอยู่ร่วมกันไปก่อน และการจัดเก็บค่าโดยสารจะยังเป็นทั้งรูปแบบรถเก่าและรถใหม่ ผสมกันอยู่
ขณะนี้ ขสมก.ได้จัดซื้อรถ NGV จำนวน 489 คันมาแล้ว ถือเป็นรถใหม่ จึงเหลือที่จะเช่าอีก 2,511 คัน โดยจะกำหนดคุณภาพ คุณลักษณะของรถที่ต้องการ จัดทำทีโออาร์ กำหนดราคากลาง เปิดประมูล E-Bidding ให้เอกชนเสนอค่าเช่าแข่งขัน โดยอาจจะแบ่งเป็น 3 สัญญาเพื่อลดความเสี่ยงหากเป็นเอกชนรายเดียว โดยจะเป็นเอกชนรายใหญ่ ที่มีความมั่นคงทางการเงิน มีทุนในการดำเนินการและมีหลักประกันในการทำสัญญา และประกันคุณภาพ มีเงื่อนไขการปรับที่ชัดเจน โดย ขสมก.บริหารการเดินรถเอง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในขณะเดียวกันได้สอบถามไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรณีการประมูลเช่ารถจากเอกชนว่าเข้าข่ายเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐเอกชน (PPP) หรือไม่
ส่วนการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ขสมก.จะปรับเส้นทางให้สั้นลง เพื่อลดการทับซ้อนและเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า ผลประโยชน์ที่ตามมาคือ ทำให้ลดจำนวนรถบนถนน ช่วยลดปัญหาจราจร ปัญหาอุบัติเหตุและมลพิษจะลดลงไปด้วย เช่น จตุจักร-อนุสาวรีย์ มีวิ่งประมาณ 30 สาย ถนนลาดพร้าวและรามคำแหง วิ่งทับซ้อน 27-28 สาย ซึ่งเป็นรูปแบบในอดีต ที่กำหนดเส้นทางเดินรถยาวมาก เพราะจะประหยัดค่าโดยสารมากกว่าต่อรถหลายสาย เช่น รถปรับอากาศค่าโดยสาร 12-25 บาท หากต้องขึ้น 2 ต่อ ต้องจ่าย 40-50 บาท รวมขากลับจะสูง ประชาชนจึงเลือกนั่งสายยาว โดยค่าโดยสารใหม่ 30 บาทไม่จำกัดเที่ยวตลอดทั้งวัน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อรถหลายสาย
นายสุรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ทำความเข้าใจกับพนักงานที่กังวลเกี่ยวกับการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ที่ก่อนหน้านี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งการเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นไปตามแผนเดิมไม่เปลี่ยน โดยจะเป็นภาคสมัครใจ เฉพาะพนักงานเก็บค่าโดยสาร พนักงานสำนักงาน ไม่รวมพนักงานขับรถ ซึ่งปัจจุบัน ขสมก.มีไม่เพียงพอ ต้องใช้การ Outsource มาส่วนหนึ่งแล้ว
"ขณะนี้สหภาพฯ เข้าใจแล้ว คงไม่ต้องจัดประชุมเวิร์คช้อป แล้ว แต่จะไปทำความเข้าใจเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ผู้มีส่วนได้เสียอื่น เช่น ผู้โดยสาร ประชาชนใช้รถใช้ถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการ ซึ่งคาดว่าจะสรุปให้จบก่อนที่จะเสนอครม."