รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำหรับประเทศไทย และแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายให้สภาพัฒน์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดของแผนการขับเคลื่อนฯ โดยเฉพาะการผนวกการขับเคลื่อน SDGs ให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
รวมทั้งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด สำหรับร่างแผนการขับเคลื่อน SDGs สำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDGs Roadmap) ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 4) คณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกหลักในการแปลงนโยบายที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs ไปสู่การปฏิบัติอย่างบูรณาการ
ทั้งนี้ ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุ SDGs ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและบูรณาการ ซึ่งประกอบด้วย
1. การสร้างการตระหนักรู้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจในหลักการ SDGs เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น 2.การบูรณาการเชื่อมโยง SDGs กับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทฯ และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถสะท้อนการขับเคลื่อน SDGs ได้ในคราวเดียวกัน 3.การมีกลไกการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
4. การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน/การพัฒนาเพื่อบรรลุ SDGs โดยจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมกับการบรรลุเป้าในแต่ละพื้นที่ 5. ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโดยภาคีการพัฒนา อาทิ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคีระหว่างประเทศ และ 6. การติดตามประเมินผลผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงลึกของ SDGs กับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ
ขณะที่แนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ และการทดลองจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อน SDGs ในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้ข้อมูลตัวชี้วัดในทุกมิติที่มีข้อมูลพร้อมในระดับจังหวัดเป็นเครื่องบ่งชี้สถานการณ์การพัฒนา
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการรับทราบรายงานความ ก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ที่ได้ดำเนินการมา อาทิ การดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ในเวทีนานาชาติ การขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนรอบ 3 ปี และรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานในระยะต่อไป
"สศช. จะจัดทำรายละเอียด Thailand’s SDGs Roadmap โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ในอนาคต รวมทั้งเร่งรัดจัดทำร่างคำสั่งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ภายใต้ กพย. เพื่อเสนอตามขั้นตอน" รายงานข่าวระบุ