(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติงบกลาง 3 พันลบ. แก้ปัญหาภัยแล้งเร่งด่วนปี 62/63

ข่าวทั่วไป Tuesday January 7, 2020 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้เตรียมการรับมือภัยแล้ง ซึ่งที่ประชุม ครม.วันนี้อนุมัติให้ใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของปี 62 ไปพลางก่อน วงเงินประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 โดยจะเริ่มปฏิบัติการขุดเจาะน้ำบาดาลกว่า 500 บ่อ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งจากทหารและกระทรวงมหาดไทย

ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 ไปพลางก่อน สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 จำนวน 3,079 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำแบ่งเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านอุปโภคบริโภค มีพื้นที่เสี่ยงในเขตการประปาจำนวน 31 จังหวัด และนอกเขตการประปาจำนวน 38 จังหวัด และ 2.ด้านการเกษตร มีพื้นที่เสี่ยงในเขตชลประทานจำนวน 36 จังหวัด และนอกเขตชลประทานจำนวน 20 จังหวัด

โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ ดังนี้ 1.ในเขตพื้นที่บริการของการประปานครหลวง (กปน.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 32 ล้านบาท โดยการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลที่สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง, สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี, สถานีสูบจ่ายน้ำบางเขน และสถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง

ส่วนในเขตพื้นที่บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเขต รวม 61 สาขา 31 จังหวัด ครอบคลุมโรงพยาบาล ในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 224 แห่ง โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไป้ญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 223 โครงการ วงเงิน 1,812 ล้านบาท โดย กปภ.ปรับแผนของตนเองจำนวน 173 โครงการ วงเงิน 653 ล้านบาท และเสนอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 50 โครงการ วงงิน 1,159 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่นอกเหนือนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 43 จังหวัด 42,452 หมู่บ้าน ประกอบด้วย พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในระดับรุนแรง 1,270 หมู่บ้าน เสี่ยงขาดแคลนน้ำในระดับปานกลาง 1,927 หมู่บ้าน เสี่ยงขาดแคลนน้ำเล็กน้อย 935 หมู่บ้าน และไม่มีผลกระทบ 3,151 หมู่บ้าน โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 3,151 โครงการ วงเงิน 4,185 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,160 โครงการ วงเงิน 2,265 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 1,991 โครงการ วงเงินรวม 1,920 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 โครงการ ดำเนินการโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 187 โครงการ กองทัพบก 209 โครงการ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 704 โครงการ วงเงิน 1,300 ล้านบาท

2.จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 230 โครงการ ดำเนินการโดยองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น 230 โครงการ วงเงิน 145 ล้านบาท

3.ซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 654 โครงการ วงเงิน 450 ล้านบาท

4.ในส่วนของโรงพยาบาล ได้มีการสำรวจโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จำนวน 157 โรงการ โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง แบ่งเป็น ขุดเจาะบ่อบาดาล 3 โครงการ ดำเนินการโดย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 3 โครงการ วงเงิน 880,000 บาท และซ่อมแซมระบบน้ำประปา ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 โครงการ วงเงิน 22.88 ล้านบาท

สำหรับด้านการเกษตรนั้น ในพื้นที่เขตชลประทานมีมาตรการในการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องต่อปริมาณน้ำตันทุน โดยมีการปรับแผนจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-กลาง จำนวน 587 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผนเดิม 11,984 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 12,570 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3 แห่ง และภาคตะวันออก 8 แห่ง

ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่

ส่วนนอกพื้นที่เขตชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมสำรวจพื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนตันเสี่ยงชาดแคลนน้ำ 2.6 ล้านไร่ พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง ยืนต้นตาย จำนวน 3.7 แสนไร่ในพื้นที่ 30 จังหวัด โดยมอบกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำตันทุนสนับสนุน พร้อมทั้งจัดทำแผนและมาตรการเสนอโดยด่วนต่อไป

ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทางหลิวง กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกองทัพบก ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ รวม 4,192 เครื่อง แบ่งเป็น รถบรรทุกน้ำและรถผลิตน้ำ 1,517 เครื่อง เครื่องจักรและเครื่องขุด 175 เครื่อง และเครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ 2,500 เครื่อง โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับไปดำเนินการวางแผนการใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ