นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยล่าสุดมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 16 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 80 อำเภอ 464 ตำบล 4,117 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ รวม 23 อำเภอ 127 ตำบล 980 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 31 อำเภอ 215 ตำบล 2,151 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทราอุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์ รวม 26 อำเภอ 122 ตำบล 966 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
พร้อมแนะนำในการเตรียมพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากปัญหาสภาวะภัยแล้ง ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจยาวนานไปจนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เนื่องจากเกิดภาวะฝนตกน้อย ไม่มีฝนตก และฝนทิ้งช่วง โดยใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลัก 3R โดยลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้น้ำซ้ำ (Reuse) และนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำและปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่จะช่วยลดผลกระทบวิกฤตขาดแคลนน้ำได้
โดยในภาคประชาชนขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ส่วนภาคการเกษตรให้ดูแลรักษาความชื้นในดินด้วยการไถพรวนดินอยู่เสมอ พร้อมนำวัสดุมาคลุมหน้าดิน, ไม่เผาตอซังเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรแต่ให้ใช้วิธีไถกลบแทน, ติดตามสถานการณ์น้ำ และแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ รวมถึงวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่, สร้างระบบกักเก็บน้ำในพื้นที่ อาทิ ขุดร่องน้ำ หรือใช้ระบบน้ำบาดาล, ทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมให้จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่, ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำให้พร้อมใช้งาน ทั้งท่อส่งน้ำ ระบบการกระจายน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย, เลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ เพื่อลดการสิ้นเปลืองน้ำ และนำน้ำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่