นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภัยแล้งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในปี 2563 หลังจากนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถือเป็นหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม หรือ พีเอ็มยู ที่เป็นเจ้าภาพบริหารจัดการทุนวิจัยประเด็น "บริหารจัดการน้ำ" โดยต้องเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ หน่วยงาน เพื่อเชื่อมปลั๊กการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ในส่วนภาควิจัยของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ประเด็น "บริหารจัดการน้ำ" เป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยสำคัญ "แฟลกชิฟ" ปี 2563 ของประเทศ ตามแผนจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ
นอกจากนี้ สกสว. และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังได้สนับสนุนโครงการวิจัย งานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำสำนักประสานงานวิจัยการจัดการน้ำเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผลลัพธ์งานวิจัยทำให้ประเทศไทยมีแผนงานการบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ เพื่อให้ประเทศมีทรัพยากรน้ำใช้รองรับการเติบโตในอนาคต
โดยมีกรอบวิจัยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ: กรอบการพัฒนาระยะยาว (พ.ศ. 2560 - 2579) ที่ตอบโจทย์ประเทศ 3 กลุ่ม คือ 1.พัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดความสมดุล ลดความขัดแย้ง พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม ศึกษาศักยภาพในการเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และสระแก้ว
2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน ทั้งการบริหารเขื่อน การใช้น้ำอุปโภคบริโภค เกณฑ์ควบคุมการปล่อยน้ำเขื่อน การพัฒนาระบบการส่งน้ำ การกระจายน้ำ ติดตั้งเซนเซอร์ในระบบชลประทานเพื่อโยงเข้ากับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ และติดตั้งเซนเซอร์ในแปลงนา การเชื่อมโยงระบบข้อมูลน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินเพื่อจัดการน้ำร่วมระหว่างน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน
3.การบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี การพัฒนาเซนเซอร์และระบบน้ำอัจฉริยะเพื่อการชลประทาน การส่งข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการจัดการน้ำอัจฉริยะ และการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมรักษ์น้ำเพื่อการประหยัดน้ำ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของโครงการตอบสนองต่อพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นแนวทางใหม่ของการบูรณาการและยกระดับงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาระบบการใช้ข้อมูลสารสนเทศประกอบการตัดสินใจให้สามารถแก้ปัญหา โดยสร้างกลไกการใช้น้ำที่เป็นนวัตกรรมและปรับพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยมีเป้าหมายที่จะลดค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำลดลง 15% และปริมาณน้ำที่นำไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 85% ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยนำร่องในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และโครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง สำนักชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร โดยใช้งานวิจัยการพัฒนาระบบเซนเซอร์และเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน