น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในวันนี้ ครม.ได้รับทราบสถานการณ์น้ำแล้งช่วงระหว่างวันที่ 7-13 มกราคม 63 ที่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ไปแล้วจำนวน 18 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 89 อำเภอ 507 ตำบล ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี
ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนเฉพาะหน้าเพื่อดูแลประชาชน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่แล้งมาก หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม มีการพยากรณ์ว่าฝนจะตกน้อย เพราะฉะนั้นรูปแบบการทำรายงานจะต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ใน 2 ช่วงเวลานี้
ที่ผ่านมา ได้มีข้อสั่งการจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 แบ่งความรับผิดชอบเป็น 3 กลุ่มภารกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพยากรณ์ สถานการณ์น้ำ, กลุ่มการบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
โดยภารกิจหลักที่ทำมาโดยตลอดคือ การสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การกำหนดมาตรการรับมือ ทั้งที่ทำไปแล้ว ประกาศไปแล้ว และอยากให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในเรื่องการจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดบ่อบาดาลในพื้นที่ขาดแคลนน้ำดิบ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง ไปยังระบบผลิตน้ำประปาและการกำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาแก้มลิงชั่วคราว ให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรไม่ให้ปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำ และประสานกรมฝนหลวงในพื้นที่ เพื่อให้ปฏิบัติการฝนหลวงตามสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม มีการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และมอบให้หน่วยงานรับผิดชอบ กำหนดมาตรการรองรับกรณีการพังทลายของตลิ่งและยังมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำและทราบถึงมาตรการ บริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ขออนุมัติงบบูรณาการ จำนวน 3,000 ล้านบาท บวกกับงบประมาณที่จะใช้ดูแลในช่วงน้ำแล้งในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า รวมแล้ว 6 พันล้านบาท ใน 3,378 โครงการที่จะครอบคลุมในเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาล 1 พันกว่าโครงการ, การจัดหาแหล่งน้ำผิวดินและการดูแล ซ่อมแซมระบบประปา, การฟื้นฟูแหล่งน้ำ 421 โครงการ, การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก คาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ และน่าจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 942 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวงด้วย
"ท่านนายกฯ ย้ำว่าอยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลอย่างเต็มที่ และอยากกำชับให้พี่น้องประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำการเกษตร" น.ส.รัชดา กล่าว