นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังกรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเกิดน้ำทะเลหนุนช่วงวันที่ 13-15 ม.ค.63 ทำให้สถานการณ์ค่าความเค็มยังคงทรงตัวและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ วันนี้ (15 ม.ค.63) แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีประปาสำแล เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.19 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) แม่น้ำท่าจีนที่สถานีปากคลองจินดา เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.25 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกงที่สถานีปราจีนบุรี เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.07 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และ แม่น้ำแม่กลองที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.23 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำและการผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ และขอย้ำว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องมีการจัดสรรให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักอย่างไม่ขาดแคลน พร้อมกันนี้ต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำตามแผนงานที่วางไว้ และใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่าให้มากที่สุด
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ในปัจจุบัน (14 ม.ค.63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,789 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 43% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,093 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 23% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำตามแผนจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปี 2562/63 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 มีความต้องการน้ำตลอดฤดูแล้งปี 2562/63 จำนวน 5,434 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง พ.ย.62-เม.ย.63 จำนวน 4,000 ล้าน ลบ.ม. (ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม.) ปัจจุบันจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (4,000 ล้าน ลบ.ม.) ไปแล้ว 2,022 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของแผน แต่เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัดจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ