พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งเป็นประชุมนัดพิเศษหารือส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤตว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้สั่งการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองให้เป็นไปตามวาระแห่งชาติที่รัฐบาลกำหนดแผนไว้ ระหว่างปี 2562-2567
พร้อมทั้งเน้นย้ำให้มีการการบังคับใช้กฏหมาย และติดตามแผนปฏิบัติงานของแต่ละกระทรวงให้เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการสร้างการรับรู้ของประชาชนโดยให้มีการจัดตั้งวอร์รูมสถานการณ์ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในแต่ละวันที่กรมควบคุมมลพิษประกาศปริมาณที่ตรวจวัดได้ พร้อมทั้งให้มีจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบค่าฝุ่นละอองให้มีความสมบูรณ์
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองเข้าขั้นวิกฤต นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงมาบัญชาการการแก้ปัญหาด้วยตัวเอ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนว่าปัญหา PM 2.5 มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้กำหนดสำหรับประเทศไทยคือ หากเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต้องมีการเพิ่มความเข้มงวดในการออกมาตรการแก้ปัญหา โดยทางผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นคนกำหนดมาตรการออกมา
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่บังคับใช้จะมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพสถานการณ์และสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริง ไม่สามารถกำหนดเป็นวันเวลาทีชัดเจนได้ เพราะสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน
"ข้อสรุปทางกรมควบคุมมลพิษจะมีการวัดตลอด แล้วทุกพื้นที่ทุกจังหวัดจะรับทราบ แล้วเขาก็กำหนดมาตรการที่จะแก้ไข และก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ ไม่ใช้จนเกินไป"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่บังคับใช้นั้นเป็นมาตรการตามแผนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด จึงอาจมีผลกระทบต่อประชาชนบ้าง จึงอยากจะขอความร่วมมือจากประชาชนให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ
"ขอให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ ช่วยลด ไม่ใช่บังคับใช้กฏหมายอย่างเดียว ไม่มีสูตรสำเร็จสั่งได้ทันที"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
สำหรับมาตรการลดค่าโดยสารสาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้คนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น พล.อ.อนุพงษ์ ยอมรับว่า ถือเป็นมาตรการที่น่าสนใจและควรมีการส่งเสริม ซึ่งจะมีการนำไปหารือกับครม.ต่อไป