นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยยระหว่างการลงพื้นที่ตรวจโรงงานในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกับผู้ประกอบการเร่งตรวจสอบ และหามาตรการในการลดปัญหามลพิษ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งออกมาตรการ และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเชิงพื้นที่การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบ เครื่องมือ และกลไกการบริหารจัดการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 จำนวน 6,104 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีการพลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนอุปกรณ์เหล่านั้นรวมกันกว่า 13,629 เครื่องทั่วประเทศ แบ่งเป็น โรงงานภาคกลาง 3,338 แห่ง, ภาคเหนือ 286 แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 513 แห่ง, ภาคตะวันออก 1,148 แห่ง, ภาคตะวันตก 324 แห่ง และภาคใต้ 495 แห่ง ส่วนใหญ่ฝุ่นละออง PM2.5 จะเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, โรงสีข้าว, ผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้ง, การฟอกย้อม, การเกษตรแปรรูป, เคมีภัณฑ์, การแปรรูปไม้, สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยงที่ใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ จำนวน 13,629 เครื่อง ส่วนใหญ่จะใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันเตา, น้ำมันดีเซล, น้ำมันก๊าด, ก๊าซธรรมชาติ, แอลพีจี, ชีวมวล และถ่านหิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ก็ได้มีการจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำ ความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้วยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี และต่อไปก็จะขยายไปโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ
"แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษระบุว่าปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลส่วนใหญ่ เกิดจากยานพาหนะถึง 52% การเผาในที่โล่ง 35 % จากพื้นที่อื่น 7% จากฝุ่นดิน ฝุ่นโลหะหนัก 6 % และโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีองค์ประกอบของซัลเฟอร์สูง ประมาณ 3-5 % นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ตรวจ ติดตาม โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้หน่วยงานในสังกัด ออกมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแล้ว มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้โรงงานลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นยั่งยืน" นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังได้กำชับให้ดำเนินการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำให้มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์, ตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบขจัดมลพิษอากาศให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอ, ศึกษาการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงให้เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น, จัดทำมาตรการป้องกันเขม่าควันและไอระเหยของสารเคมีจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำ และตรวจวัดคุณภาพอากาศของปล่องระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษ และยังช่วยให้บริษัทประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนได้อีกด้วย