(เพิ่มเติม) ไทยเตรียมประกาศให้โรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย เพิ่มอำนาจจนท.บังคับใช้กฎหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday February 20, 2020 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะพิจารณาเห็นชอบให้โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายอีก 1 โรค เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีการประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ หลังจากที่ได้ผ่านการพิจารณาจากกรรมการด้านวิชาการแล้ว

"ด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจนมากขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน เมื่อเดือนที่แล้ว จึงเป็นไปได้สูงที่กรรมการ 30 คนจะลงมติเห็นชอบ และประธานกรรมการจะได้พิจารณาลงนาม เพื่อประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย" นพ.โสภณระบุ

ทั้งนี้ เมื่อออกประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว จะช่วยทำให้การบริหารจัดการโรคนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีกฎหมายเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค รวมถึงมีบทลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามด้วย

"หากอีก 2 เดือน มีแนวโน้มว่าจะป่วยมากขึ้น เราก็จะมีกฎหมายช่วยในการทำงาน เมื่อมีผู้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่....ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ตอนนี้ให้ควอลันทีนที่บ้าน 14 วัน ถ้ากลับจากประเทศที่มีการระบาด อันนี้ใช้กฎหมายเป็นตัวนำ ถ้าไม่ทำตามจะมีโทษทางกฎหมาย แต่ประเทศเรา ตอนที่ยังไม่ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย จะใช้เพียงการขอความร่วมมือ" ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไประบุ

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเตรียมประกาศให้โรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ประกอบด้วย 4 ข้อ คือ 1. เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น 2. มีความรุนแรงของโรค โดยอัตราการป่วย-ตายสูง 3. มีการแพร่ระบาดข้ามประเทศ 4.มีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

"ตอนนี้ครบถ้วนทุกเกณฑ์ จากเมื่อเดือนก่อนที่บอกว่ายังไม่ติดต่อระหว่างคนสู่คน แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เรารู้จักโรคดีขึ้น ข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจได้รอบด้าน ชั่งน้ำหนักประโยชน์ ข้อเสีย หลายประเทศก็ยกระดับโรคนี้มีความสำคัญมากกว่าโรคติดต่อทั่วไป" นพ.โสภณระบุ

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่ควบคุมการระบาดได้ และมีการขยายพื้นที่เฝ้าระวังเพิ่มเติมเป็น 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และเชียงราย) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามาก จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ส่วนมาตรการของไทยที่ด่านควบคุมโรคติดต่อ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ ด่านพรมแดน มีความเข้มแข็งต่อเนื่อง มีการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลทำให้การตรวจคัดกรองโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายกักตัวผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางโดยเครื่องบินพาณิชย์ หรือเรือสำราญ เพียงแต่ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 จะต้องถูกตรวจคัดกรอง วัดไข้ และดูว่ามีอาการของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจหรือไม่ เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากพบว่าผู้ที่มีไข้สูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส และมีอาการระบบทางเดินหายใจ จะต้องถูกแยกตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยโรค และการรักษาที่รวดเร็ว ส่วนผู้ที่ตรวจคัดกรองแล้วไม่มีอาการใดๆ จะกลับบ้านได้ แต่จนท.จะขอให้สังเกตอาการต่ออีก 14 วัน หากมีไข้หรือมีอาการป่วยให้รีบมาพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย

ส่วนโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 (การแพร่ระบาดในประเทศ) นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์ทุกระยะ และเชื่อว่าจากที่ในอีก 2 เดือนข้างหน้า (มี.ค.-เม.ย.) เป็นฤดูร้อนของไทย ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวลดลงได้ เนื่องจากสถิติจะพบว่า ในช่วงฤดูร้อนจะพบการเกิดโรคติดต่อทางทางเดินหายใจจากไวรัสในอัตราต่ำสุด ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงถือเป็น Golden Period ที่ไทยจะต้องไม่ประมาท โดยเตรียมความพร้อมไว้ทั้งสถานพยาบาล บุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้พร้อมรับต่อสถานการณ์ที่หากจะเกิดขึ้น

สำหรับการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยนั้น ล่าสุดยังไม่พบผู้เดินทางที่เข้าข่ายต้องเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แต่ทั้งนี้จะต้องรอดูอีก 1-2 สัปดาห์ และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

ด้านนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่วว่า ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศไทยอยู่ในช่วงลดการป่วย และลดการแพร่กระจาย ต่างจากประเทศอื่นที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติและความร่วมมือของประชาชน โดยยืนยันว่าประชาชนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรงไม่มีอาการป่วย สามารถใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าได้ ทั้งนี้ เพื่อให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีไว้เพียงพอสำหรับผู้ป่วยจริงๆ รวมทั้งหน้ากากอนามัยแบบ N95 ที่ไว้ใช้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่มีโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ

ส่วนที่มีข้อสงสัยถึงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่ามีโอกาสจะติดจากละอองฝอยขนาดเล็ก (Airborne) ได้นั้น นพ.รุ่งเรือง ยืนยันว่า ข้อมูลทางการแพทย์ ณ ปัจจุบันยังคงยืนยันว่าไวรัสโควิด-19 จะเป็นการติดจากละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplet) เช่น การไอหรือจามรดกัน ซึ่งเป็นการติดต่อในระยะใกล้ แต่ทั้งนี้ คณะทำงานด้านวิชาการจะติดตามข้อมูลการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

"ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ยังเป็นการติดจากละอองฝอยขนาดใหญ่ คือการไอ หรือจามรดกัน แต่เรามีคณะทำงานวิชาการติดตามอย่างต่อเนื่อง ณ ขณะนี้ยังเป็น Droplet คือติดต่อจากละอองฝอยขนาดใหญ่ การไอ หรือจามรดกัน" นพ.รุ่งเรืองระบุ

ทั้งนี้ การติดต่อของเชื้อไวรัสผ่านละอองฝอยขนาดเล็ก (Airborne) ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดต่อของวัณโรค และโรคหัด ส่วนการติดต่อของเชื้อไวรัสผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplet) จะเป็นการติดต่อของโรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยล่าสุดวันนี้ ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาลยังเท่าเดิมที่ 18 ราย กลับบ้านได้ 17 ราย รวมสะสม 35 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 1 ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ในวันนี้ อาการดี ทำตามคำสั่งได้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้ผลลบ รายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ โดยทั้ง 2 คน ได้รับยา Favipiravir ครบ 5 วันแล้ว

ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,052 ราย คัดกรองจากสนามบิน 58 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 994 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 861 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 191 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ