นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สร้างวิกฤตเศรษฐกิจครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะส่งเสริมให้มีการล่าอาณานิคมภายในประเทศ ในไม่ช้าจะเกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร คนจะตกงานเพิ่มขึ้น คนหมดหนทางทำมาหากิน การแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดรุนแรง กลายเป็นวิกฤตสังคม
รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ตกต่ำ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะระบุว่าสถิติการขอเปิดกิจการ (3,000 ราย) มีมากกว่าการขอปิดกิจการ (1,400 ราย) แต่ไม่ได้นำเรื่องอัตราการจ้างงานมาพิจารณาด้วย และคงไม่เหมาะที่จะนำอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไปเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีอัตราการเติบโตไม่สูงมาก ขณะที่ปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 80% ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับสองของโลก และเมื่อดูสถิติการบังคับคดีเพิ่มสูงขึ้น
"นโยบายของรัฐบาลทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น คนจนก็ไม่มีโอกาสรวย คนรวยก็ไม่มีโอกาสจน" นายสุทิน กล่าว
นายสุทิน กล่าวว่า ผลกระทบจากนานาชาติไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตามทำให้รายได้จากการส่งออกที่มีสัดส่วน 70% ของ GDP หดหายไป การถูกสหรัฐตัดจีเอสพี ปัญหางบประมาณล่าช้า เงินบาทแข็งค่า ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น
"นิติธรรมไม่เกิด trust หาย confidence ไม่มา จากกรณีปิดเหมืองอัครา" นายสุทิน กล่าว
นายสุทิน ระบุว่า แนวคิดประชารัฐเกิดจากการมีส่วนร่วม 3 ฝ่ายคือ รัฐ เอกชน และประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้นกลายเป็นเอกรัฐด้วยการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนภาครัฐ-เอกชน 12 ชุดในการกำหนดทิศทางของประเทศ โดยไม่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม มันเหมือนปล่อยเสือเข้าไปขังไว้ในห้องเก็บเนื้อสดแล้วควบคุมไม่ดี
"จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่รัฐบาลทำลงไปให้ไปดูที่ output คนหนึ่งรวยมหาศาล คนหนึ่งจนลงๆ" นายสุทิน กล่าว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขณะที่มหาเศรษฐีของไทยมีสินทรัพย์เพิ่มมากขึ้นเป็นอัครมหาเศรษฐีในช่วง 5 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้แต่ภาคธุรกิจเองก็เกิดความเหลื่อมล้ำมาก เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 5% ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 95% ขณะที่ธุรกิจรายย่อยส่วนใหญ่ 95% ครองส่วนแบ่งการตลาดที่เหลืออยู่เพียง 5% ซึ่งผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอชี้มูลเหตุของความเหลื่อมล้ำว่า 76% ของผู้ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมีทรัพย์สินเพิ่ม ขณะที่ 79.1% ของผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
"พลังประชารัฐเป็นสารตั้งต้นของความเหลื่อมล้ำ...ถ้าผสมสูตรผสมส่วนให้มันลงตัวจะเกิดพลัง แต่ถ้าผสมสูตรผิดเป็นยาพิษ" นายสุทิน กล่าว
ตัวอย่างที่เห็นคือ การเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยกว่า 3 แสนไร่ แต่ราคาผลผลิตลดลงจาก 1,200 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 600 บาท/ตัน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น เพราะใช้วิธีเผาอ้ออยเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง
นายสุทิน กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีแรก รัฐบาลทอดทิ้งเกษตรกรเพราะมีอคติต่อนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปดูแล ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดตกต่ำ รวมถึงทำให้ SMEs ที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอจนไม่สามารถฟื้นฟูได้แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับไปรีดภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะรายได้ไม่มีแต่ภาษีเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
"กระตุ้นเศรษฐกิจไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะกำลังซื้อไม่มี ผลผลิตทางการเกษตรก็ขายไม่ได้ราคา" นายสุทิน กล่าว
นายสุทิน กล่าวว่า หากรัฐบาลปล่อยทิ้งไว้ ไม่ดำเนินการอะไร อีกหน่อยกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะกลืนผู้ประกอบการขนาดเล็กให้หายสาบสูญไป ตอนนี้ระบบเศรษฐกิจชุมชนพังพินาศ สิ่งที่ประเทศมาเลเซียนำมาใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการใช้อัตราภาษีก้าวหน้า เพื่อให้นำเงินคนรวยมาจุนเจือคนจน แต่รัฐบาลนี้กลับไปผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนมีภาระมากขึ้น ขณะเดียวกันกับไปออกกฎหมายลดภาษีที่ดินให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้า
"สิ่งที่รัฐบาลแจกให้ประชาชนเป็นเหมือนยาชาที่ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าเหลื่อมล้ำ แต่ยาชาจะหมดฤทธิ์ในอีกไม่ช้า" นายสุทิน กล่าว
โครงการบัตรคนจน, เที่ยวเมืองรอง, ชิมช้อปใช้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ แทนที่จะรัฐบาลจะไปส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าโอทอปที่จะเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจหลายรอบ ขณะที่ประชาชนจะไม่กระตือรือร้นทำมาหากินเหมือนในต่างประเทศ รอรับการแจกจากรัฐบาลอย่างเดียว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการปฏิรูปของรัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลัวว่าจะได้รับผลกระทบกับตัวเอง
"วันนี้เห็นแล้วว่าท่านแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ เห็นแล้วว่าท่านเอื้อคนรวย แล้วก็ไม่ช่วยคนจนจริงๆ ถ้าให้อยู่ต่อไปความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ให้อยู่ต่อไปความเหลื่อมล้ำจะยากเกินจะเยียวยา จะดึงอ้อยออกจากปากช้างไม่ได้ แล้วให้อยู่ต่อไปวิกฤตสังคมนี้จะเกิด แล้วถ้าวิกฤตสังคมเกิดจะลำบากกันทั้งประเทศ ผมจึงขอให้ท่านเสียสละต่อบ้านเมือง ยุบสภาไม่ใช่ทางออก ไม่ใช่ความผิดของสภา ลาออกเท่านั้น" นายสุทิน กล่าว