นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ผลิตและผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยที่ไม่แจ้งสต็อกในครอบครองให้มาชี้แจงสาเหตุต่อกรมฯ หลังจากที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ทุกรายแจ้งสต็อกของเดือน ม.ค.63 ภายในวันที่ 6 ก.พ.63 และได้ขยายระยะเวลาสุดท้ายจนถึงวันที่ 14 ก.พ.63 ซึ่งพบว่ามีผู้ไม่แจ้งถึง 47 ราย แต่ล่าสุดมีผู้มาชี้แจงแล้ว 28 ราย ส่วนที่เหลือจะทยอยมาชี้แจงเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ กรมฯ ได้ทำหนังสือเชิญผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอีก 16 ราย ที่ไม่ปันส่วนหน้ากากอนามัยมาให้กับกรมฯ เพื่อจัดสรรเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยมาชี้แจงสาเหตุด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างรอการชี้แจงดังกล่าว
"รายที่ไม่แจ้งสต็อก ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีสินค้าในมือเลยไม่แจ้ง แต่ตามกฎหมายจะไม่แจ้งไม่ได้ ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาทจนกว่าจะแจ้ง ส่วนรายที่ไม่ยอมปันส่วนจะเรียกมาถามเหตุผลต่อไป ถ้าพบว่ามีสินค้าแต่ไม่ยอมปันส่วน จะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท" นายวิชัย กล่าว
สำหรับการดำเนินตรวจสอบผู้ค้าขายหน้ากากอนามัยราคาสูงเกินจริงนั้น ล่าสุดจับกุมได้แล้ว 39 ราย ในจำนวนนี้เป็นการขายทางออนไลน์ 5 ราย และเป็นร้านค้าทั่วไป 34 ราย ซึ่งได้ส่งดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ฐานกระทำความผิดตามมาตรา 29 ค้ากำไรเกินควรแล้ว มีโทษตามกฎหมายสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ทุกราย เพราะถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนในสถานการณ์ไม่ปกติ
ส่วนการระบายหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยนั้น ขณะนี้ได้รับการปันส่วนจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายได้ประมาณวันละ 500,000 ชิ้น ซึ่งได้กระจายต่อให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อน อย่างองค์การเภสัชกรรม ที่นำไปกระจายต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ, บมจ.การบินไทย (THAI), สมาคมร้านขายยา และนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนที่กระทรวงพาณิชย์, ส่งจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้า 1,140 แห่งทั่วประเทศ และล่าสุดได้กระจายผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น, มินิบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส โดยจำกัดการซื้อคนละ 4 ชิ้นๆ ละ 2.50 บาท