(เพิ่มเติม) สธ.ประสานข้อมูลเตรียมพร้อมรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ เล็งใช้ อสม.ล้านคนทั่วประเทศติดตามอาการ

ข่าวทั่วไป Tuesday March 3, 2020 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงคมนาคม และฝ่ายความมั่นคงอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องการเดินทางกลับมายังประเทศไทยหลังจากเกาหลีใต้มีการแพร่ระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าจำนวนแรงงานมีเท่าใด

"แรงงานดังกล่าวถือเป็นคนไทย ถ้าจะไม่ให้เข้าประเทศก็พูดยาก เป็นโจทย์ว่าเข้ามาแล้วจะทำยังไงให้ปลอดภัย ข้อมูลที่แม่นยำจะช่วยได้มาก...ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานสำคัญในการกำหนดแผนและมาตรการ"นพ.โอภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรับเมื่อเข้ามาจะต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงโดยจำแนกอาการก่อน ถ้ามีไข้ก็จะต้องเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) และต้องอยู่โรงพยาบาล แต่หากไม่มีไข้ก็ต้องเข้าข่ายกักกัน และต้องดูว่าเดินทางมาจากเมืองไหนด้วย ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ เตรียมความพร้อมไว้แล้ว รวมถึงสถานที่รองรับ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

"เป็นเรื่องระดับรัฐบาลที่ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการปัญหานี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลป้องกันการระบาด ดำเนินการตามหน้าที่และพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อสั่งการต่อไป"นพ.โอภาส กล่าว

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ดึงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเป็นกำลังสำคัญในการติดตามแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

"รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข สั่งการให้กรมสอบสวนบริการสุขภาพดึง อสม.มาเป็นกำลังในการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19 ก็จะมีเรื่องของอสม.เคาะประตูบ้าน ถ้าเรารู้ว่ารายชื่ออยู่ตรงไหน เรามี อสม.1 ล้านคน สามารถไปติดตามได้ เพียงแต่ขอข้อมูลที่ชัดเจน เป็นใคร ที่ไหน บ้านไหน เชื่อว่าไม่เกินกำลังความสามารถที่เราจะไปติดตาม"นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและไม่ได้รับการกักตัวนั้น นพ.โอภาส ชี้แจงว่า กลุ่มที่จำเป็นต้องแยกกักกันหรือสังเกตอาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ประกอบด้วย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค คือมีอาการป่วย และประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ต้องแยกกักอย่างเข้มงวดในโรงพยาบาล

แต่กลุ่มที่ไม่มีอาการแต่เสี่ยงที่จะรับเชื้อจากผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าป่วย (กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง) ได้แก่ คนในครอบครัว เพื่อร่วมงาน เพื่อร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมยานพาหนะ ต้องกักกันตนเองที่บ้าน(Self- quarantine at home) อย่างเคร่งครัด 14 วัน งดเที่ยว งดเรียน งดทำงาน แยกของใช้ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เจ้าหน้าที่จะรับตัวไว้ดูแลตามระบบ

ขณะที่กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงเนื่องจากเดินทางจากพื้นที่ระบาด (ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ) ขอให้ลดกิจกรรมทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากที่พักหมั่นล้างมือ อย่าไปในพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น ให้สังเกตอาการตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ พบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติเดินทาง

และผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ชุมชน

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปว่า ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิตและการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย

พร้อมทั้งให้ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแปรปรวน ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรค เวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ

สรุปสถานการณ์ประจำวันนี้ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม โดยยอดผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 43 ราย เป็นผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 31 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ด้านจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-2 มี.ค.63 มีทั้งหมด 3,519 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 95 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,394ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,099 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,420 ราย

นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อโรคที่ต้องควบคุมตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558 กำหนดให้เป็นเชื้อโรคควบคุมในกลุ่มที่ 3 หากผู้ใดต้องการครอบครองสัตว์ต้องขออนุญาตเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เชื้อโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ