นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ว่า สำหรับการรับแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ล่าสุดจนถึงเวลา 02.30 น.นั้น ขณะนี้ที่อาคารรับรองสัตหีบ จ.ชลบุรี ได้รับแรงงานไทยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการรวมทั้งหมด 186 คน แบ่งเป็นชาย 88 คน หญิง 98 คน ซึ่งเดินทางมาจากเมืองแทกู และเมืองคยองซังเพียง 8 คน โดยในจำนวน 186 คนนี้ มีบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 18 คน เนื่องจากมีทั้งเด็ก, หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงการติดตามสอบสวนโรคแก่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิหร่านว่า ในเคสนี้พบว่ามีผู้สัมผัสกับผู้ป่วยในจำนวนค่อนข้างมากถึง 157 คน ซึ่งเป็นทั้งบุคลากรทางการแพทย์, ครอบครัว, การเดินทางโดยการขนส่งสาธารณะ และชุมชน ซึ่งทีมสอบสวนโรคได้ติดตามตัวเพื่อมาสังเกตอาการ และส่งตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการแล้ว
"เคสนี้ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เดินทางออกนอกประเทศไปเรียบร้อยแล้ว แต่บางคนยังอยู่ในประเทศ ที่ยังอยู่ในประเทศทีมสอบสวนโรคได้ติดตามตัวมาติดตามอาการ ว่าติดเชื้อหรือไม่เรียบร้อยแล้ว" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มเติม โดยยังมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมเท่าเดิมที่ 50 คน กลับบ้านได้แล้ว 33 คน เสียชีวิต 1 คน และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 16 คน ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 รายที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
พร้อมชี้แจงว่าจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค (PUI) ทั้งหมดจนถึงขณะนี้ 4,518 คน พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 50 คน นั่นหมายถึงคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทุกๆ 100 คนจะติดเชื้อเพียง 1 คนเท่านั้น ดังนั้นไม่ได้แปลว่าคนที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงจะต้องติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกราย ซึ่งอัตราการติดเชื้อมีเพียง 1% เท่านั้น
"เวลาที่เราดูข้อมูลว่ามีคนเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง แล้วมีอาการไข้แล้ว เราจะตื่นตระหนกว่าเขาจะเป็นโควิดนั้น โอกาสที่เขาจะเป็นมีแค่ 1% เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการได้คล้ายคลึงกัน" นพ.ธนรักษ์กล่าว
ด้านนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการเรื่องยาต้านไวรัสว่า ในการรักษาได้มีคณะทำงานมาช่วยดูแลหลักเกณฑ์และแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งระดับของผู้ป่วยมีตั้งแต่อาการน้อย อาการมาก และอาการวิกฤติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางกรอบการรักษาร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ในหลายแห่ง รวมทั้งนำข้อมูลจากต่างประเทศมาเปรียบเทียบและประกอบเป็นแนวทางสำหรับการรักษาโรคร่วมด้วย
"เรามียา (ยาต้านไวรัส) อยู่ในมือ 4-5 หมื่นเม็ด ในหลักการคือ พยายามกระจายยาไปให้ครอบคลุมหน่วยบริการ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยวิกฤติ และผู้ป่วยที่มีอาการมากได้" นพ.ณรงค์กล่าว
สำหรับยาต้านไวรัสนี้จะกระจายยาไปยัง 3 ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก อยู่ที่กรมควบคุมโรค โดยมีสถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันหลักที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนที่ 2 อยู่ที่กรมการแพทย์ ซึ่งดูแล รพ.ราชวิถี รพ.โรคทรวงอก และครอบคลุม รพ.ที่สังกัดมหาวิทยาลัย, รพ.สังกัด กทม. และรพ.เอกชน และส่วนที่ 3 อยู่ที่เขตสุขภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลเล็กๆ ที่อยู่ในเครือข่ายต่อไป