นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ออกประกาศไปยังสายการบินที่ต้องให้บริการในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน รวมเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า, อิหร่าน และอิตาลี ให้ผู้โดยสารที่ต้องเดินทางขึ้นเครื่องบินจะต้องได้รับการตรวจรับรองจากแพทย์ว่าไม่มีเชื้อโควิด-19
และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ผู้โดยสารจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ก่อนเข้าสู่สนามบิน จากนั้นต้องกรอกข้อมูลทางสาธารณสุขเพื่อระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ก่อนที่จะผ่านเครื่องเทอร์โมสแกน ซึ่งจะมี 3 จุด คือ จุดที่ลงจากเครื่อง จุดตรวจคนเข้าเมือง จุดศุลกากร เพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารมีไข้หรือไม่ หากมีไข้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะส่งตัวไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
สำหรับผู้โดยสารที่ผ่านการตรวจแล้วว่าไม่มีไข้ จะมีรถส่งไปยังแต่ละภูมิภาค เมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา กระทรวงมหาดไทยได้เตรียมจุดจอดให้ผู้โดยสารลงและเซ็นต์ชื่อ ก่อนจะให้กลับไปกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วันที่บ้าน โดยมั่นใจว่ามาตรการที่ดำเนินการทั้งหมดจะช่วยป้องกันการระบาดของโรคให้สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาไม่นานมาก
ด้านนายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล เปิดเผยว่า มาตรการที่ออกมาในขณะนี้เป็นการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งแบ่งการคัดกรอง 3 เป็นขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกจะเริ่มตั้งแต่ที่สถานทูต ซึ่งผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ (ที่รับรองว่าไม่มีไข้ ในระยะเวลา 14 วันก่อนเดินทาง และต้องออกใบรับรองแพทย์ภายใน 3 วันก่อนเดินทาง) เอกสารที่เกี่ยวกับการประกันภัย และระยะเวลาการปลอดเชื้อเป็นเวลา 14 วัน เพื่อประกอบการขอเดินทางกลับประเทศ
ขั้นตอนที่ 2 คือ การคัดกรองของระบบสายการบิน ที่ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงจะสามารถขึ้นเครื่องบินได้ และขั้นตอนที่ 3 คือการคัดกรองในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการในการกักกันตัว 14 วัน
พร้อมย้ำว่า มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ซึ่งย้ำว่าไทยไม่ได้ปิดประเทศ หรือห้ามไม่ให้คนเข้าประเทศ แต่การเดินทางเข้าประเทศขณะนี้จะต้องมีเงื่อนไขบางประการ
ส่วนประเทศที่มี VOA จากนี้ จะต้องไปขอการตรวจลงตราที่สถานทูต หรือสถานกงสุล และในบางประเทศ หรือบางเขตพื้นที่ ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ก็จะถูกยกเลิกสิทธินั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การใช้มาตรการกักตัวในบ้านนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำคนในครอบครัว ทั้งการใส่หน้ากาก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยการควบคุมที่บ้านจะให้ญาติพี่น้องช่วยกันดูแลในระดับหนึ่ง ส่วนระดับสองจะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจจากการแต่งตั้ง ทั้ง อสม. บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลประจำตำบล เข้ามาตรวจดูสุขภาพ ตลอด 14 วัน และจะร่วมมือกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ทหารในการติดตามดูแลร่วมมือกันในบ้าน รวมถึงติดตามจากแอปพลิเคชั่นที่ลงไว้
"เป้าหมาย คือ การดูแลสุขภาพของประชาชน และถ้าไม่ทำเช่นนี้ คนในครอบครัวจะได้รับผลกระทบ และในระหว่างการกักตัวก็จะมีการให้ความรู้ ผู้ที่ดูแลคนที่ต้องกักตัว ซึ่งถ้าไม่ปฎิบัติตามก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
นพ.สุขุม ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ อสม.ที่เข้าไปดูแลผู้ที่กักตัวนั้นได้ผ่านการอบรมมาอย่างดีแล้ว และในพื้นมีอุปกรณ์ หน้ากากอนามัย ถุงมือ สนับสนุนเป็นพิเศษ แยกจากโรงพยาบาล โดยรัฐบาลได้จัดสรรให้เป็นพิเศษ