บัน คี-มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เขารู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของราคาอาหารทั่วโลก เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อโครงการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ The Millennium Development Goals (MDG) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาความยากจนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2558
เขากล่าวว่า โครงการพัฒนาอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) และหน่วยงานอื่นๆ อาจจำเป็นต้องแบ่งปันความช่วยเหลือด้านอาหาร พร้อมกับแนะว่าภาวะขาดแคลนอาหารอาจบรรเทาได้ด้วย "การปฏิวัติสีเขียว" (green revolution) หรือการทำเกษตรแผนใหม่ เช่นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการเพาะปลูกในแอฟริกา
ทั้งนี้ ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวขึ้น 40% ในช่วง 9 เดือน ขณะที่สำรองอาหารขณะนี้อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี
โดย WFP กำลังเผชิญกับการขาดแคลนเงินทุน 500 ล้านดอลลาร์ สำหรับการให้ความช่วยเหลือในการจัดหาอาหารให้แก่ประชากร 73 ล้านคนในปีนี้
นายบันกล่าวว่า ปัจจุบัน หลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ต้องจ่ายเงินซื้อขนมปังแพงขึ้น 2 หรือ 3 เท่า พร้อมกับเตือนว่าปัญหานี้อาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นได้
"ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อโครงการ MDG ผมรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้" เลขาฯ ยูเอ็นกล่าว
สำหรับต้นเหตุของภาวะขาดแคลนอาหารนี้มาจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย การเพิ่มจำนวนประชากร ราคาธัญพืชและพลังงานที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการหันไปใช้พืชผลทางการเกษตรเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของยูเอ็นได้ออกมากล่าวว่า การใช้พืชเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพแทนที่จะใช้เป็นอาหารถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่นายบันก็ยังเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น แต่จะต้องชั่งน้ำหนักให้ได้ระหว่างผลดีและผลเสียของเชื้อเพลิงชีวภาพ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--