พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 1/2563 กล่าวว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ได้มีการหยิบยกโครงการเพิ่มปริมาณน้ำและแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน มาพิจารณาความเหมาะสม ความพร้อมของโครงการก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาต่อไปในการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 20 มีนาคม 2563 นี้ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองระบมตอนล่าง ลักษณะเป็นโครงข่ายอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ความจุ 19.20 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง ความจุ 15.00 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ความจุ 27.50 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน เป็นโครงการที่ถูกเลือกมาดำเนินการเป็นโครงการแรก ลักษณะเป็นเขื่อนดินมีที่ตั้งหัวงานอยู่ที่บริเวณบ้านอ่างเตย ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 11,000 ไร่ และฤดูแล้ง 3,000 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การสัตว์เลี้ยง แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การประมงน้ำจืด การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ปีละ 3 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเพื่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในการเสริมศักยภาพการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ปีละ 1.3 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้ง ยังมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอท่าตะเกียบได้อีกด้วย มีแผนงานดำเนินโครงการ 3 ปี (ระหว่างปีงบประมาณ 2564-2566)
"จากการประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราระหว่างปี 2560-2580 พบว่า ในปี 2560 มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 1,456 ล้าน ลบ.ม. และอีก 20 ปี ในปี 2580 จะมีความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,637 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ในปัจจุบันแหล่งน้ำต้นทุนของจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ที่ 1,510 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน ขอให้กรมชลประทานเสนอโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียนให้คณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงให้ความเห็น ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ม.35 (7) ด้วย" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 (เพิ่มเติม) ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) อีก 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์ – หล่มสัก ประกอบด้วย แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาเพชรบูรณ์ – หล่มสัก (ระยะที่ 1-2) และแผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย กปภ.สาขาเพชรบูรณ์ – หล่มสัก โดยใช้แหล่งน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำก้อ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง และแม่น้ำป่าสัก เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 24,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยการวางท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ และท่อบริการขนาดต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนทดแทนท่อเก่าและวางท่อใหม่ในเขตจ่ายน้ำต่าง ๆ และพื้นที่ข้างเคียง รวมความยาว 314 กิโลเมตร สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้น 18,800 ราย (ประมาณ 50,739 คน) และบริหารจัดการลดอัตราน้ำสูญเสียในระบบผลิตจ่ายไม่เกิน 20%
และ 2.โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาสมุทรสาคร – นครปฐม ประกอบด้วย แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาสมุทรสาคร – นครปฐม (ระยะที่ 1-2) และแผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย กปภ.สาขาสมุทรสาคร – นครปฐม โดยใช้แหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลอง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 432,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยวางท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ และท่อบริการขนาดต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนทดแทนท่อเก่าและวางท่อใหม่ในเขตจ่ายน้ำต่าง ๆ และพื้นที่ข้างเคียง รวมความยาวทั้งสิ้น 475.2 กิโลเมตร สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้น 95,500 ราย (ประมาณ 222,628 คน) และบริหารจัดการลดอัตราน้ำสูญเสียในระบบผลิตจ่ายไม่เกิน 20%
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการของ กปภ. ทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปา ส่งเสริมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียให้เป็นไปตามเป้าหมาย สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค โดยได้มอบหมายให้ กปภ. จัดทำแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคตผนวกไว้ในแผนงานการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการด้วย และเห็นควรให้เสนอ กนช. เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายโดยเน้นย้ำให้โครงการที่ผ่านการพิจารณาของ กนช. แล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน โดยให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมปรับปรุงหลักเกณฑ์การขับเคลื่อนโครงการสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนและตรวจสอบข้อมูลโครงการสำคัญและการเตรียมความพร้อมการดำเนินการโครงการ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน