นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า วันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 30 ราย ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มาจากการตรวจติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากสนามมวย 11 ราย, กลุ่มสอง มาจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ 1 ราย, กลุ่มสาม ติดเชื้อจากผู้ป่วยรายเก่า 2 ราย และกลุ่มสี่ เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 9 ราย (คนไทย 6 ราย ต่างประเทศ 3 ราย) และผู้ขับแท็กซี่ 1 รายที่รับผู้โดยสารต่างชาติ และรอการสอบสวนเพิ่มเติมอีก 6 ราย
ทั้งนี้ ล่าสุดในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 177 ราย กลับบ้านได้แล้ว 41 ราย รักษาในรพ. 135 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง (PUI) ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-16 มี.ค.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 7,045 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 283 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 6,762 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,588 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 2,457 ราย
สำหรับกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 83 คน มี 6 คนรับตัวไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล ทั้งหมดไม่มีไข้ มีน้ำมูกเล็กน้อย 1 คน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อ ส่วนอีก 77 คนที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ ทุกคนไม่มีไข้ โดยวานนี้ (16 มี.ค.63) ได้เก็บสิ่งส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ทราบผลวันนี้ และจะเฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 14 วัน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการมาตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ 80-90% มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ประสานในการจัดให้มีสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วย โดยในกรณีที่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้น จะจัดให้พักฟื้นอยู่ในหอผู้ป่วยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานของกรมควบคุมโรค โดยตั้งในเขตปริมณฑล พร้อมเปิดได้ทันที 234 เตียง
นอกจากนี้ จะพิจารณาสถานที่ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น โรงเรียนกีฬา หรือโรงแรมต่างๆ ที่สนใจจะรับผู้ป่วยที่ไม่มีการแพร่เชื้อ แต่อยู่ในระยะพักฟื้นไว้ดูแล ซึ่งขณะนี้ทราบว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประสานงานไว้แล้วกว่า 4 พันเตียง
นพ.สุขุม กล่าวว่า แม้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากในแต่ละวัน แต่การระบาดยังเป็นกลุ่มก้อนและสามารถหาต้นตอหรือที่มาของการแพร่ระบาดได้ จึงขอยืนยันว่าประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2
"คนไข้แม้จะเพิ่มจำนวน แต่เป็นกลุ่มก้อน มีที่มาชัดเจนตามเกณฑ์ของเรา ยังเป็นระยะ 2 แต่ที่ระวังคือจะทำอย่างไรให้จำนวนผู้ป่วยแต่ละวันลดลง คือทุกคนต้องดูแลตัวเองด้วย เช่น งดไปในที่แออัด ทำงานที่บ้าน งดสังสรรค์ ถ้าไปในที่ชุมชนให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ"ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนรายใดที่มีประวัติเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงภายใน 2 สัปดาห์ย้อนหลัง เช่น สนามมวย สนามกีฬา และสถานบันเทิงที่มีคนแออัดแล้วมีอาการผิดปกติหรือต้องสงสัยจะติดเชื้อ ให้รีบมาพบแพทย์จะได้รับการตรวจได้ฟรี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการมากก่อนแล้วค่อยมาพบแพทย์
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับ รพ.ในเครือข่ายคณะแพทย์ศาสตร์ทุกแห่ง, รพ.ในสังกัดกทม. รวมทั้ง รพ.เอกชน ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่า รพ.ทุกเครือข่ายจะยึดปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันคือ 1.ลดจำนวนผู้ป่วยไม่เร่งด่วนที่มารับบริการที่ รพ.ให้ไปรับยาร้านขายยาใกล้บ้าน ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสถานพยาบาล
2.จัดคลินิกไข้หวัด ซึ่งขณะนี้มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว 500-600 แห่ง เป็นการแยกคนไข้ในกลุ่มระบบทางเดินหายใจให้เข้ามารับการตรวจรักษา เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อหากจะไปตรวจรวมกับผู้ป่วยอื่นๆ ใน รพ.ทั่วไป
3.ความพร้อมของสถานพยาบาล คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ประมาณ 400 เตียง ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอสำหรับการรับผู้ป่วยได้ ขณะที่ยาต้านไวรัสฟาวิพิลาเวียร์ได้นำเข้ามาจากญี่ปุ่น 4 หมื่นเม็ด เพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยได้ 600-700 คน โดยได้สั่งซื้อยาเพิ่มอีกหลายหมื่นเม็ด และมีระบบสำรองยาทั้งสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น
"จริงๆ เป็นการเตรียมโคลฮอทวอร์ด ยังไม่ได้ไปถึงขั้นโรงพยาบาลสนาม ถ้า peak แบบคนเยอะจริงๆ เราเตรียมแผนล่วงหน้า อาจจะเตรียมเป็นหอพัก หรือโรงแรม นี่อาจเป็นแผนเดือนหน้าต้องอาศัยสมาคมโรงแรมช่วยกันด้วย...ถ้าเดือนหน้ามีสถานการณ์ แต่เราหวังว่าจะไม่มี นี่เป็นเพียงการเตรียมการล่วงหน้าเท่านั้น...เราแค่สมมติว่า ถ้าคนไข้มาวันละหลายร้อยคนจะทำอย่างไร เพราะถ้าเตรียมตอนนั้นจะไม่ทัน เราต้องเตรียมล่วงหน้ากรณีโคลฮอทวอร์ด เตรียมมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพราะคิดว่าคนไข้จะเพิ่มขึ้นวันละ 30-50 คน...ตอนนี้เป็นแค่การคาดการณ์ ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าเกิดจริง เราก็มีเตียงรองรับคนไข้เพียงพอ" อธิบดีกรมการแพทย์ระบุ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ประเมินแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนหน้าว่า ขึ้นกับหลายปัจจัย โดยปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากการไปในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น สนามมวย และสถานบันเทิง
อย่างไรก็ดี เห็นว่าถ้าสามารถติดตามคนที่มีโอกาสได้รับเชื้อมาตรวจได้เร็ว และกักตัวเองเพื่อสังเกตอาการให้ครบ 14 วัน และหากตรวจพบแล้วรีบรักษาได้เร็ว นอกจากนี้ ในเดือน เม.ย.ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด อีกทั้งการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เชื่อว่าสถานการณ์ในเดือนเม.ย.นี้ น่าจะมีจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้นไม่มากนัก