กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 35 ราย โดยมีผู้ที่มีอาการหนัก 2 รายเป็นคนไทย 1 รายรักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาลที่จังหวัดสุราษฎรธานี และชาวต่างชาติ 1 ราย เป็นชาวเบลเยี่ยม อายุ 67 ปี ขณะนี้รักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาลที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 212 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ กลุ่มแรกเป็นผู้ที่ติดเชื้อจากสนามมวย สถานบันเทิง และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายเดิม ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และผู้ที่ยังอยู่ระหว่างรอการสอบสวนโรค
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 35 รายในวันนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรก 29 ราย คือ เป็นผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาจากสนามมวย 13 ราย ซึ่งมาจากจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ ขอนแก่น สมุทรปราการ เชียงใหม่ สุโขทัย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด, ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาจากสถานบันเทิง (ย่านทองหล่อ) 4 ราย, การสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานก่อนหน้าแล้ว 12 ราย เช่น รับเชื้อมาจากกลุ่มสังสรรค์, กลุ่มสนามมวย และกลุ่มเพื่อนร่วมงาน
ส่วนกลุ่มสอง 6 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ ไก้แก่ ผู้เดินทางกลับจากกัมพูชา 1 ราย ผู้ที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับต่างชาติ เช่น พนักงานต้อนรับ, บริกร, นิติบุคคลของคอนโดมิเนียม 4 ราย และผู้ที่ยังรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ 1 ราย
ขณะที่ผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 212 ราย กลับบ้านแล้ว 42 ราย รักษาในโรงพยาบาล 169 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง (PUI) ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-17 มี.ค.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 7,546 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 295 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 7,251 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,789 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 2,757 ราย
"สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เป็นผลจากการคัดครองที่ครอบคลุมไปยังกลุ่มบุคคลและสถานที่ที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด ผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีประวัติเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ไปในที่คนแออัด มีกิจกรรมสังสรรค์ หลายคนไม่ลดกิจกรรมทางสังคม หลายคนไม่กักกันตัวเองอย่างเคร่งครัดเมื่อป่วย ทำให้นำโรคไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัว...หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ การระบาดของโรคในประเทศจะขยายวง และอาจนำไปสู่การควบคุมโรคได้ลำบาก ดังนั้นทุกคนควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
พร้อมกันนี้ ได้ย้ำให้ผู้ที่เดินทางไปสนามมวยลุมพินี และสนามมวยราชดำเนิน ในวันที่ 6 มี.ค.63 รวมทั้งผู้ที่เข้าไปยังสถานบันเทิงยามค่ำคืนในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 9-10 มี.ค.63 ซึ่งเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้กลุ่มคนเหล่านี้สังเกตอาการ 14 วัน หากมีไข้ ไอเจ็บคอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ หายใจลำบากให้รีบไปเข้ารับบริการตรวจรักษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกสังกัดใกล้บ้านได้ฟรี
นพ.สุวรรณชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก และมีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปร่วมประกอบกิจกรรมทางศาสนานั้น ล่าสุดมาเลเซียได้ประกาศปิดประเทศ 2 สัปดาห์แล้ว ส่วนทางการไทยได้เพิ่มบุคลากรควบคุมโรคที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซียมากขึ้นเพื่อรองรับคนที่จะเดินทางกลับ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนเวชภัณฑ์ ชุดเก็บตัวอย่างส่งตรวจ อุปกรณ์การทำงานเพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และได้จัดสถานที่กักตัว รวมทั้งคลีนิคโรคหวัด (โคลฮอทวอร์ด) ไว้รองรับกรณีที่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากขึ้นในพื้นที่
ขณะเดียวกันจะมีการสื่อสารไปยังประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจโรค ไม่ให้ตระหนกแต่ต้องตระหนักให้มากขึ้น ทั้งนี้จะมีการใช้ทั้งมาตรการทางสังคมและทางกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมการแพร่ระบาด
"ขณะนี้มีผู้เดินทางผ่านพรมแดนทางบกจากประเทศมาเลเซียที่เราติดตามได้แล้ว 89 คน จากสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พบว่ามีอาการป่วย 11 คน แต่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 รวม 2 คน และได้ติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดครบ 14 วันแล้ว 52 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการเฝ้าระวังให้ครบ 14 วัน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชี้แจงเรื่องการใช้สิทธิเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า 1. การเจ็บป่วยจากไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยขอให้เลือกใช้บริการในสถานพยาบาลตามที่มีสิทธิอยู่แล้ว เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิสวัสดิการราชการ แต่หากมีภาวะฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิที่ใดก็ได้ รวมถึงสถานพยาบาลของเอกชน
2. สำหรับแนวทางการเก็บค่ารักษาของสถานพยาบาลเอกชนนั้น กรณีผู้ป่วยต่างชาติต้องใช้สิทธิประกันสุขภาพของตัวเอง ไม่สามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ แต่หากเป็นคนไทย เมื่อไปใช้บริการที่สถานพยาบาลเอกชน ให้ใช้ประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนก่อน ส่วนที่เหลือจะเป็นการสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนคนไทยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ให้ใช้กลไกการจ่ายคล้ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โดยจะหารือกับ 3 กองทุนฯ ว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนใดหรือมาจากงบกลาง โดยได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ไปตั้งคณะทำงานยกร่างรายละอียดแนวทางการจ่ายเงิน
"สำหรับคนป่วย เพื่อป้องกันความแออัดในบางที่ ขอให้กระจายไปใช้สิทธิตามสิทธิที่ตัวเองมีก่อน ถ้าจำเป็นค่อยไปสถานพยาบาลเอกชน ส่วนสถานพยาบาลเอกชน ขอให้บรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อหลักเกณฑ์ออกมาแล้วผ่านครม.แล้ว ค่อยให้นำค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่ได้เรียกเก็บจากประชาชนมาเก็บได้ตามเงื่อนไข" นพ.ธเรศ ระบุ