"ประวิตร" ถกกนช.อนุมัติผันน้ำแม่กลองเติมเจ้าพระยา 500 ล้านลบ.ม. ป้องกันน้ำเค็มรุกตัว

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2020 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้เห็นชอบแผนการเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ (ป้องกันน้ำเค็ม) จำนวน 500 ล้านลูกบาศก์เมตรในฤดูแล้งปี 2562/2563

เนื่องจากมีความจำเป็นต้องผันน้ำต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน เพื่อป้องกันกันน้ำเค็มรุกตัวและเกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร โดยคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาสถานการณ์ทั้งในลุ่มน้ำแม่กลองยังคงมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะดำเนินการปรับแผนการผันน้ำเพิ่ม และได้มีการเสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลองให้ความเห็น ตามพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แล้ว โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง มีความเห็นว่าการผันน้ำต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของลุ่มน้ำแม่กลอง และผู้รับประโยชน์จากการผันน้ำควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำตามปริมาณการผันน้ำในรูปแบบกองทุนเพื่องานวิจัยด้านน้ำ หรือรูปแบบอื่น ๆ ด้วย

โดยวันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำความเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ได้แก่ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การประปานครหลวง (กปน.) บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ และเฝ้าระวังมิให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำ รวมถึงให้การประปานครหลวง พิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงน้ำคลองประปาเต็มศักยภาพคลองด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการของแผนหลักและแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ประกอบด้วย 1) แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ในพื้นที่ชุมชนที่ต้องดำเนินการอีก 549 ชุมชน จากเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 166 ชุมชน โดยพิจารณาตามความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2564-2565) จำนวน 52 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 260,000 ไร่ ระยะกลาง (พ.ศ. 2566-2570) จำนวน 157 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 360,000 ไร่ ระยะยาว (พ.ศ. 2571 เป็นต้นไป) จำนวน 340 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 9.13 ล้านไร่ 2) โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของ การประปาส่วนภูมิภาค (เพิ่มเติม) จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย 1. โครงกปภ.สาขาเพชรบูรณ์ - หล่มสัก 2. กปภ.สาขาเดิมบางนางบวช

3. กปภ.สาขาสมุทรสาคร - นครปฐม 4. กปภ.สาขาด่านช้าง 5. ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ.สาขานครศรีธรรมราชในพื้นที่ อบต.ท่าเรือ 6. ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ.สาขานครศรีธรรมราชในพื้นที่เทศบาลการะเกด โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 475,200 ลบ.ม.ต่อวัน สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 126,750 ราย ทั้งนี้ กปภ. จะต้องเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำสำรองให้เพียงพอ สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปี โดยเตรียมความพร้อมการดำเนินการโครงการให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม สำหรับการพัฒนาต่อไป

ที่ประชุมยังได้พิจารณโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ อีก 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จ.ฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC.) ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (2564-2566) เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนความจุเก็บกัก 19.20 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับโยชน์ในฤดูฝน 11,000 ไร่ และเพาะปลูกในฤดูแล้ง 3,000 ไร่ สามารถสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และการอุตสาหกรรม ได้ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และสามารถช่วยเสริมศักยภาพการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 1.3 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี อีกทั้งมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอท่าตะเกียบด้วย และโครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 (เพิ่มเติม) ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) อีก 2 โครงการ คือ 1) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์ – หล่มสัก เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 24,000 ลบ.ม.ต่อวัน สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้น 18,800 ราย และ 2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาสมุทรสาคร – นครปฐม เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 432,000 ลบ.ม.ต่อวัน สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้น 95,500 ราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 3 โครงการและให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการต่อไป

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมวันนี้ ยังได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพิ่มเติม ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำมีความครบถ้วน สมบูรณ์ บรรลุเป้าหมาย สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 76 จังหวัด มีหน้าที่ในการจัดทำแผน แผนปฏิบัติการ และแผนงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในระดับจังหวัดตามกรอบแผนแม่บทระดับลุ่มน้ำ ขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดทั้งนภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ติดตามประเมินผลการดำเนินงานนตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ