นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้เตรียมพร้อมจะรับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยแคมเปญ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เช่น การกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้เพียงพอ การเหลื่อมเวลาทำงาน การทำงานจากที่บ้าน การงดสังสรรค์ เป็นต้น
"วันนี้ถึงจะบอกว่าไม่ปิดประเทศแต่อยากให้ดูผลลัพธ์ที่ออกมาน่าจะคล้ายๆ กัน ที่ไม่มีการปิดประเทศเพราะจะมีผลกระทบเยอะ และดำเนินการยาก คนอาจแห่ออกจากกรุงเทพไปต่างจังหวัดไปแพร่เชื้อ...หากจำเป็นจะต้องยกระดับจะได้ไม่ส่งผลกระทบมาก และหากจะมาตรการใดออกมาขอให้ประชาชนฟังจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เท่านั้น" นางนฤมล กล่าว
สำหรับการดำเนินมาตรการทั้ง 6 ด้านที่รัฐบาลประกาศไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทำให้มีจำนวนผู้ที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยน้อยลงไปมาก
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาหน้ากากขาดแคลนเริ่มคลี่คลายไปในทางดีที่ดีขึ้น โดยในส่วนของหน้ากากอนามัยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านชิ้น/วัน จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านชิ้น และกระทรวงพาณิชย์ 9 แสนชิ้น ขณะเดียวกันการผลิตหน้ากากผ้าทางเลือกของหลายหน่วยงานก็มีความคืบหน้าไปมาก เช่น กระทรวงมหาดไทย 12.8 ล้านชิ้น, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 8 แสนชิ้น, กระทรวงกลาโหม 2.3 แสนชิ้น, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2 แสนชิ้น ส่วนการดำเนินคดีผู้ที่กักตุนหรือขายเกินราคานั้นก็ได้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด
สำหรับการดำเนินมาตรการ 6 ด้านนั้น ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปทุกจังหวัดให้ปิดจุดผ่านแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน, งดการออกใบอนุญาตการพนันกัดปลา ชนไก่ ชนวัว, ปิดสถานบริการทั่วประเทศกว่า 2.3 หมื่นแห่ง
ส่วนกรณีที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อโรคนั้น รัฐบาลได้เตรียมการในเรื่องความปลอดภัยของธุรกิจดิลิเวอรี่จัดส่งอาหาร โดยลงนามในบันทึกความเข้าใจกับผู้ประกอบการดิลิเวอรี่ 17 บริษัทให้กวดขันดูแลในเรื่องความสะอาด
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 คงใช้ระยะเวลายาวพอสมควร โดยต้องวางกลยุทธ์รับมือให้การระบาดเกิดขึ้นช้าที่สุด เพื่อที่จะได้หามาตรการรองรับที่เหมาะสม มีองค์ความรู้ใหม่ๆ และลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด
"มาตรการที่นำมาใช้ต้องให้เกิดความสมดุล หากใช้ยาแรงเกินไปอาจเกิดผลเสียตามมา สิ่งสำคัญคือการดูแลสูขภาพให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ หยุดการเคลื่อนย้าย ต้องชนะแบบสูญเสียน้อยที่สุด แต่จะชนะหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคน" นพ.ยง กล่าว
นพ.ยง กล่าวว่า โรคทางเดินหายใจจะระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน ซึ่งคาดว่ากว่าจะถึงช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.จะมีความพร้อมในเรื่องการผลิตยารักษาโรคนี้ได้ ขณะที่การสำรองยาในปัจจุบันจำนวน 2 แสนเม็ด ถือว่ามีปริมาณเพียงพอ เนื่องจากจะมีผู้ป่วยที่มีอาการปิดติดเชื้อราว 4% จากผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งปริมาณยาที่สำรองอยู่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปอดติดเชื้อได้ราว 8 พันคน
นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีก กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่างกังวลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการใช้กำลังการผลิตไปเพียง 60-70% เท่านั้น และขณะนี้ได้มีการสต๊อกสินค้าเพื่อจำหน่ายเพิ่มเป็น 3 เท่า
"เรามีประสบการณ์จากน้ำท่วมเมื่อปี 57 ยังรอดมาได้ หากประชาชนมีความต้องการมากเราสามารถเติมสินค้ากลับได้ภายใน 8-16 ชั่วโมง" นายคมสัน กล่าว