(เพิ่มเติม) COVID-19: ผู้ว่า กทม.เตรียมออกคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 22 วัน ปิดห้างยกเว้นซูเปอร์ฯ-ร้านอาหารให้สั่งกลับบ้าน

ข่าวทั่วไป Saturday March 21, 2020 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ในเวลา 14.00 น.วันนี้ กทม.จะออกประกาศมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยจะหยุดกิจกรรมหลายอย่างในพื้นที่ กทม.มีผลบังคับใช้วันพรุ่งนี้ ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน รวม 22 วัน

ผู้ว่า กทม.ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่จะต้องหยุด เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดแค่โซน supermarket / ร้านยา ส่วนร้านขายอาหาร ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้นห้ามนั่งกินที่ร้าน ส่วนร้านอาหารในโรงแรมให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เข้าพัก ทั้งนี้ ยังให้ปิดตลาดเหลือแค่ร้านขายของเพื่ออุปโภคบริโภค ของสด ของแห้ง รวมถึงปิดร้านเสริมสวย คลีนิคเสริมความงาม

พล.ต.อ.อัศวิน ยังกล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้ง รถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร ปรับจำนวนการรองรับผู้โดยสารให้ลดลง โดยเว้นระยะห่างของประชาชนให้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เมตร เช่น โบกี้ของรถไฟฟ้าจากที่รองรับได้ 80 คน ให้ลดลงเหลือ 40 คนต่อ 1 โบกี้เป็นต้น

ขณะที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กทม.ระบุว่า คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 กระจายขยายวงกว้าง มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563

สถานที่เสี่ยงปิดเพิ่มเติม ได้แก่

  • สปา นวดเพื่อสุขภาพ
  • สถานบริการควบคุมน้ำหนัก
  • สปาอาบน้ำ ตัดขนสัตว์
  • ลานสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด
  • กิจการเสริมสวย และคลินิคเสริมความงาม
  • สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม
  • กิจการบริการคอมพิวเตอร์
  • สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
  • สระว่ายน้ำ
  • กิจการสักผิว
  • กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน
  • บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
  • สนามพระ
  • สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
  • สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ
  • ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
  • ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต
  • สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง
  • สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กทม.ยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า ร้านอาหารยังเปิดตามปกติ เพียงแต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) และซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังเปิดตามปกติ ร้านสะดวกซื้อให้หมั่นทำความสะอาด มีจุดบริการแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า เพื่อความสะอาด ปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ