(เพิ่มเติม1) COVID-19: กทม.ออกคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 22 วัน ห้างยกเว้นซูเปอร์ฯ-ตลาดนัด-ร้านอาหารให้สั่งกลับบ้าน

ข่าวทั่วไป Saturday March 21, 2020 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ในเวลา 14.00 น.วันนี้ กทม.จะออกประกาศมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยจะหยุดกิจกรรมหลายอย่างในพื้นที่ กทม.มีผลบังคับใช้วันพรุ่งนี้ ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน รวม 22 วัน

ผู้ว่า กทม.ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่จะต้องหยุด เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดแค่โซน supermarket / ร้านยา ส่วนร้านขายอาหาร ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้นห้ามนั่งกินที่ร้าน ส่วนร้านอาหารในโรงแรมให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เข้าพัก ทั้งนี้ ยังให้ปิดตลาดเหลือแค่ร้านขายของเพื่ออุปโภคบริโภค ของสด ของแห้ง รวมถึงปิดร้านเสริมสวย คลีนิคเสริมความงาม

พล.ต.อ.อัศวิน ยังกล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้ง รถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร ปรับจำนวนการรองรับผู้โดยสารให้ลดลง โดยเว้นระยะห่างของประชาชนให้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เมตร เช่น โบกี้ของรถไฟฟ้าจากที่รองรับได้ 80 คน ให้ลดลงเหลือ 40 คนต่อ 1 โบกี้ เป็นต้น

ขณะที่ในช่วงบ่าย กทม.ออกประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อันเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

กทม.เป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการท่องเที่ยว และมีความหนาแน่นของประชากรสูงถือเป็นป้จจัยเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว การควบคุมโรคอย่างทันเวลาและจำกัดการชุมนุมของประชาชนเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้างจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง อาศัยอำนาจตามความมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการ กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 5/2563 ในวันที่ 21 มี.ค.63 ให้ปิดสถานที่ในพื้นที่ กทม.เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.63 ดังต่อไปนี้

สถานที่เสี่ยงปิดเพิ่มเติม ได้แก่

1.ร้านอาหาร ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม

2.ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น)

3.พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4.ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต)

5.ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6.สถานที่บริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7.สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

8.สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9.ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10.สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11.สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

12.สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่

13.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ

15.สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16.สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

17.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18.สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19.สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร

21.โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22.สถานที่ออกกำลังกาย

23.สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24.สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25.สนามกีฬา

26.สนามม้า อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

นอกจากนี้ กทม.ยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า ร้านอาหารยังเปิดตามปกติ เพียงแต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) และซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังเปิดตามปกติ ร้านสะดวกซื้อให้หมั่นทำความสะอาด มีจุดบริการแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า เพื่อความสะอาด ปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ